ความคืบหน้ากรณีที่นักเรียนนายร้อยตำรวจชยากร พุทธชัยยงค์ หรือ น้องโยโย่ และ นักเรียนนายร้อยตำรวจณัฐวุฒิ ตีระสุวรรณสุข หรือน้องฟิวส์ เสียชีวิตจากการฝึกกระโดดร่มที่สนามโดดร่มที่สนามตุงคะเตชะ ในค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อปี 2557 นายสาทร พุทชัยยงค์ บิดาของน้องโยโย่ เปิดเผยว่า ล่าสุดทางร.ต.อ. ประเทือง แสงอร่าม ร้อยเวร สภ. ชะอำ ได้แจ้งมาว่าวันนี้ได้นำสำนวนคดีดังกล่าวที่มีผู้ต้องหา 11 ราย ไปส่งให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกเหนือจากข้อหาประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส คือ ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ในความผิดมาตรา 157 โดยข้อหานี้ได้แจ้งเพิ่มกับเจ้าหน้าที่กองบังคับการกองการบินตำรวจ 3 ราย นอกจากนี้ในการฝึกกระโดดร่มเมื่อปี 2557 ยังมีนักเรียนนายร้อยตำรวจอีก 3-4 คน ที่กระโดดร่มแล้วร่มกางช้า ทำให้ร่างกระแทกพื้นอย่างรุนแรง ได้รับบาดเจ็บสาหัสด้วย นายสาทรกล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวแล้วยังไม่สบายใจ จนกว่าคดีนี้จะถึงที่สิ้นสุดและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพราะเกรงว่าจะมีการช่วยเหลือกันภายใน กลัวว่ากระบวนการยุติธรรมจะถูกแทรกแซง
ทั้งนี้ผู้ต้องหา 11 ราย ในคดีดังกล่าว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด จำนวน 7 คน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อสายสลิงและอนุมัติจ่ายเงินในการจัดซื้อสายสลิงที่นำมาเปลี่ยน ได้แก่ พล.อ.อ.วีรนันท์ หาญสวธา กรรมการผู้จัดการ ในฐานะส่วนตัวและนิติบุคคล, ร.อ.กณพ อยู่สุข ผู้จัดการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ลพบุรี, นายสมชาย อำพา ช่างซ่อมอากาศยาน ผู้ทำการติดตั้งสายสลิง, นายกีรติ สุริโย ช่างซ่อมอากาศยาน ผู้ทำการติดตั้งสายสลิง, นายรัชเดช เถาว์เพ็ง ช่างเทคนิค ผู้ทำการติดตั้งสายสลิง, นายสมเจต สวัสดิรักษา ผู้จัดการแผนกตรวจรอยร้าวโดยไม่ทำลาย ผู้จัดหาและประสานงานจัดหาสายสลิงดัดแปลง และนายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม ผู้ประสานงานและสั่งให้มีการจัดหาสายสลิงนำมาดัดแปลง
กลุ่มที่สอง คือ เจ้าหน้าที่ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 คน คือ นายสุพร ธนบดี ผู้จัดการกองซ่อมบำรุงอากาศยานตำรวจ ผู้สั่งซื้อสลิงของแท้จากต่างประเทศ และส่งมอบให้กองบินตำรวจแล้ว แต่รู้เห็นการนำสลิงดัดแปลงที่เกิดเหตุมาติดตั้งกับเครื่องบิน และกลุ่มสุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่กองบังคับการกองการบินตำรวจ จำนวน 3 นาย คือ พ.ต.อ.อโณทัย ศาสตร์สง่า นักบิน (สบ 5) ประธานกรรมการติดตามการซ่อมบำรุงอากาศยาน พ.ต.อ.ประพงษ์ ภู่ฮง ช่างอากาศยาน (สบ 4) คณะกรรมการติดตามการซ่อมบำรุงอากาศยาน และ ร.ต.ต.พิพัฒน์ เยาวเรศ ช่างอากาศยาน (สบ 1) ที่เป็นผู้ติดตามการซ่อม โดยรู้เห็นในการเปลี่ยนสลิงที่ใช้ในวันเกิดเหตุ