องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานมอบแก่ราษฎร-เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ดอยแบแล เชียงใหม่

13 ธันวาคม 2561, 21:04น.


วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เชิญถุงพระราชทาน จำนวน 286 ถุง จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มอบแก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยแบแล จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับติดตามการดำเนินงาน เพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์อย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์กับราษฎร ซึ่งได้สร้างความปลาบปลื้มแก่ราษฎร ผู้ปฏิบัติงาน และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎรในครั้งนี้





องคมนตรี พร้อมคณะฯ เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ดอยแบแล ตำบลสบโขง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเชิญถุงพระราชทาน มอบให้แก่ราษฎรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ พร้อมกับติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงาน สืบเนื่องจากเมื่อเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ป่าไม้ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพบว่าพื้นที่ป่าบริเวณดอยแบแลถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นบริเวณกว้างและมีแนวโน้มว่าจะมีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากปล่อยไว้ แหล่งต้นน้ำบริเวณห้วยอมแฮด ,ห้วยแบแล ,ห้วยพะอัน ,ห้วยกองซาง ,ห้วยไคล้นุ่น จะประสบภาวะแห้งแล้ง ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรในพื้นที่อำเภออมก๋อยในอนาคต จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยแบแลขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ทดลองสาธิตปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงทั้งพืชผัก ไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาว จากการดำเนินงานฯ โดยส่งเสริมและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนาในรูปแบบข้าวไร่หมุนเวียน เป็นการทำนาหรือนาหยอดแบบขั้นบันไดบนพื้นที่รวม 281 ไร่ ทำให้ได้ผลผลิตข้าวนาดำเฉลี่ย 35 ถัง/ไร่ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการทำผ้าทอพื้นเมือง รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ จากการสำรวจเมื่อปี 2560 ราษฎรมีรายได้เฉลี่ย 40,000 บาท/ครัวเรือน/ปี





นอกจากนี้ยังฟื้นฟูสภาพป่าไม้ควบคู่กับการป้องกันรักษาป่าที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ปี 2545 มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ไร่ และในปี 2555 – 2560 ได้ป่าเพิ่มขึ้นจากการทำนาแลกป่าของราษฎร อีกประมาณ 1,500 ไร่ สำหรับแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระยะต่อไป คือการขยายผลสำเร็จจากแนวพระราชดำริไปยังหมู่บ้านข้างเคียง พัฒนาการเกษตรหลังนารวมถึงการพัฒนาการปลูกข้าวเพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังจะได้ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ดินและน้ำและการทำนาแบบนาขั้นบันไดในพื้นที่บ้านพะอัน อีกด้วย 



ข่าวทั้งหมด

X