วันที่สองของการลงพื้นที่ดูวิธีป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ตามแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด(สอจร.) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้ลงพื้นที่มาที่ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและตรวจจับความเร็ว 24 ชั่วโมง ถ.มิตรภาพในเขตเมืองขอนแก่น 14 กิโลเมตร บริเวณจุดตัดทางเลี่ยงเมืองขอนแก่น พบว่า ที่ศูนย์ฯ ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างสอจร., ตำรวจทางหลวง และโครงการเขตขับขี่ปลอดภัย 14 กิโลเมตร
นาย พงษ์พันธ์ แทนเกษม นักวิจัยโครงการเขตขับขี่ปลอดภัย 14 กิโลเมตร บอกว่า เดิมบริเวณจุดตัดทางเลี่ยงเมืองขอนแก่นนี้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละไม่ต่ำกว่า 14 ศพ เมื่อปี 2555 จังหวัดจึงได้นำป้ายเตือนจำกัดความเร็วที่ 60 กิโลเมตรมาติดตั้ง แต่ไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมการขับขี่ของประชาชนได้ ปี 2558 จึงได้ติดต่อกับมูลนิธิ Safer Road Foundation จากประเทศอังกฤษ เพื่อของบประมาณ 17 ล้านบาทในการจัดซื้อกล้องตรวจจับความเร็วฯ และอุปกรณ์ต่างๆ โดยเริ่มติดตั้งกล้องฯตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558
กล้องฯจะมี 3 ส่วน คือ ส่วนตรวจจับความเร็ว, ถ่ายวิดีโอ และจอแสดงผล จะตรวจจับเฉพาะรถยนต์ที่ขับเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังส่วนกลาง แล้วเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯจะดึงข้อมูลมาเพื่อออกใบสั่งต่อไป ทั้งนี้ พยายามเน้นป้องปรามมากกว่าตรวจจับ โดยได้ทำระบบแจ้งเตือนความเร็วก่อนถึงจุดตั้งกล้องตรวจจับ และเคยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ถึงโทษของการขับรถเร็ว เช่น นำคลิปอุบัติเหตุในพื้นที่มานำเสนอในสังคมออนไลน์ หลังดำเนินการมา 3 ปีกว่า ผู้เสียชีวิตลดลงถึงร้อยละ 80 รถที่ขับเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลดลงร้อยละ 50 ส่วนรถฝ่าไฟแดง ลดลงร้อยละ 40 เชื่อว่าเป็นผลมาจากกล้องฯที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับขี่ของประชาชนทั้งในทางปฏิบัติและทางจิตวิทยา นอกจากติดตั้งกล้องฯแล้ว ก็ยังมีมาตรการอื่นๆที่ทำควบคู่กันไปในพื้นที่โครงการ เช่น การทำเส้นปลอดภัย, การทำระบบตรวจจับการฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงอัตโนมัติ และพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) เพื่อตรวจจับผู้ขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อค โดยมุ่งสร้างเป็นพื้นที่ต้นแบบ ในอนาคต จะพยายามขยายไปพื้นที่อื่น
ด้านดาบตำรวจ ปรีชา ธงภักดิ์ ผู้บังคับหมู่สถานีตำรวจทางหลวงขอนแก่น ระบุว่า ตลอดทาง 14 กิโลเมตรของโครงการฯมีกล้องฯตรวจจับความเร็ว 4 จุด 6 ตัว ตำรวจทางหลวง จะเป็นผู้ออกใบสั่ง แรกเริ่มโครงการฯ มีการออกใบสั่งเดือนละ 8,000 ใบ ระยะหลังเหลือเดือนละ 3,000 ใบ มีผู้มาจ่ายค่าปรับ 500 บาทตามความผิดนี้แค่ร้อยละ 15 ต่อเดือน ส่วนหลังเริ่มทำโครงการ พบว่าผู้ขับขี่มีระเบียบและขับรถดีขึ้น แต่อุบัติเหตุในพื้นที่ก็ยังมีอยู่ ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะมาจากเมาแล้วขับ หลังจากนั้นทางสอจร.ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่แยกต่างๆที่มีการติดตั้งกล้องฯด้วย
ผู้สื่อข่าว:ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร