ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 22-30 เมษายนนี้ ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร จะมีมูลค่าขยายตัวประมาณร้อยละ 35-40 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท เป็น 4,500 ล้านบาท จากปกติ 3,000 ล้านบาท เพราะนี่คือช่วงเวลาที่หลายคนต้องอยู่บ้าน เพื่อช่วยกันชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริการส่งสินค้าและอาหาร Online ที่มีผู้ให้บริการหลายบริษัท จึงเป็นทางออกสำคัญ เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตในช่วงนี้ได้อย่างมีความสุข อิ่มท้อง และปลอดโรค อย่าง foodpanda ที่ขานรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมของภาครัฐ จะกำหนดให้พนักงานส่งอาหารต้องเว้นระยะห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 3 เมตร โดยไรเดอร์จะรอส่งอาหารอยู่ข้างนอกอาคาร นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พนักงานทำความสะอาดกล่องส่งอาหารทุกๆ 2 ชั่วโมง ทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ส่วนการชำระค่าอาหาร จะขอความร่วมมือให้ลูกค้า ชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ หรือบัตรเครดิต เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงิน ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งทำให้ลูกค้ามีความปลอดภัย และเห็นถึงความใส่ใจในสุขภาพของลูกค้า ส่วน Grab ก็มีการดูแลทั้งพนักงานและลูกค้า โดยทุกเช้าก่อนเริ่มงานพนักงานส่งอาหารทุกคนต้องวัดอุณหภูมิร่างกาย และหากในระหว่างวันขณะทำงานรู้สึกไม่สบาย ให้หยุดทำงานและไปพบแพทย์ทันที นายเก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยด้วยว่า Grab ยังมีวิธีการตรวจสอบพนักงานว่าสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงานหรือไม่ด้วยการให้พนักงานต้องถ่ายรูปใบหน้าตนเองกับหลักฐานการซื้ออาหาร (ใบเสร็จ) ทุกครั้งตอนจบงาน แล้ว upload เข้าระบบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากไม่สวมหน้ากากอนามัย จะส่งข้อความตักเตือน และพิจารณาปิดระบบ 3 วัน เป็นบทลงโทษ นอกจากนี้ Grab ยังทำประกันโควิด-19 ให้กับพนักงานทุกคน โดยมีการจ่ายเงินช่วยเหลือในระหว่างทำการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่แล้ว
ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารที่กำลังแข่งขันกันอย่างหนัก เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด จึงกลายมาเป็นธุรกิจสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหาร และส่วนประกอบอื่น ๆ ให้หมุนเวียนตามไปด้วยในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
...