การพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทำให้มีความก้าวหน้าไปมาก
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข มีความร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ไบโอเทค สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งทั้งหมดอยู่ในระหว่างพัฒนาวัคซีนพร้อมทั่วโลก
ในการพัฒนาวัคซีน ได้แก่ DNA วัคซีน ของ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และไบโอเทค กำลังมีการทดสอบในหนูทดลอง
และ mRNA วัคซีน โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดสอบในหนู และเริ่มทดสอบในลิงเมื่อวานนี้ (23 พ.ค.)
คาดว่าจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนในคนปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งจะมี 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ดูความปลอดภัย ทดสอบในอาสาสมัคร 30-50 คน
ระยะที่ 2 ดูการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทดสอบในอาสาสมัคร 250-500 คน
ระยะที่ 3 ดูผลในการป้องกันโรค ทดสอบในอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน
คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนใช้ภายในประเทศได้ปลายปีหน้า
นอกจากนี้ ไทยยังมีโรงงานในการผลิตวัคซีน คือบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนจากต่างประเทศ
นพ.นคร กล่าวว่า ในระดับนานาชาติเริ่มทดสอบในคนแล้ว 10 ชนิด ประกอบด้วย ประเทศจีน 5 ชนิด สหรัฐอเมริกา 2 ชนิด อังกฤษ 1 ชนิด เยอรมัน 1 ชนิด และออสเตรเลีย 1 ชนิด ขณะเดียวกันมีวัคซีนในสัตว์ทดลองอีก 114 ชนิด ซึ่งรวมของประเทศไทยด้วย
...