"ฝนตกน้ำท่วมกทม."ปัญหาโลกแตก

25 มีนาคม 2558, 00:52น.

"ระบบระบายน้ำ" ของกทม. สร้างเป็นรากฐานเมืองหลวงเมื่อปีพ.ศ.2520 ออกแบบให้สามารถระบายน้ำได้ 60 มม./ชม. หมายถึง เมื่อมีฝนตกลงมา น้ำจะไหลลงท่อระบายน้ำขนาดต่างๆที่อยู่ตามแนวถนนและทางเท้า รองรับปริมาณได้สูงสุด 60 มม./ชม. เพื่อระบายสู่คลอง ออกไปยังสถานีสูบน้ำ ก่อนไหลลงแม่น้ำ หากปริมาณน้ำฝนมากเกินกว่านั้น น้ำจะท่วมรอการระบายลงท่อ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ว่างตามธรรมชาติรับน้ำได้อีก เช่น ผิวดิน สนามหญ้า ลานกว้าง หนองน้ำ ป่าปรือ ฯลฯ

ต่อมาจากการขยายตัวของประชากรและสิ่งปลูกสร้างในเมือง ทำให้ปัจจุบันที่ผ่านมาเกือบ 40 ปี มีบ้านพักอาศัย อาคาร ตึก และสิ่งปลูกสร้างต่างๆเข้ามาแทนที่พื้นรับน้ำเดิม แทบไม่มีใครสร้างบ้านใหม่แล้วไม่ถมที่ ถนนหลวงถมสูงขึ้นทุก 5 ปี ยิ่งสร้างใหม่ก็ยิ่งสูงขึ้น ยังไม่นับขยะหลายตันที่กทม.ต้องคอยเก็บทิ้งตามท่อระบายน้ำ จุดนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักให้มีน้ำท่วม หรือที่เรียกว่า "น้ำที่รอการระบาย" ซึ่งทำได้เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้เครื่องสูบน้ำ สูบจากจุดที่มีน้ำท่วม ระบายลงคลองโดยตรง สามารถรองรับได้มากกว่าที่ 80 มม./ชม. ช่วยบรรเทาปัญหาเป็นครั้งคราวไป

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองที่มีความแออัด โดยเฉพาะกทม. และพัทยา แค่คิดว่าต้องปิดถนนสุขุมวิท เพชรบุรี ลาดพร้าว ฯลฯ เพื่อรื้อท่อระบายน้ำเก่า และใส่ของใหม่ไป ใช้เวลาดำเนินการขั้นต่ำ 6 เดือน ก็แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น กทม. จึงมีแนวคิดที่จะขยายระบบระบายน้ำในส่วนอื่นเท่าที่จะทำได้นอกเหนือจากการรอให้น้ำลงท่อระบายน้ำ โดยเฉพาะการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อรับน้ำจากต้นอุโมงค์ไปสู่ปลายอุโมงค์ลงแม่น้ำได้เร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันมี 2 จุด ได้แก่ อุโมงค์มักกะสัน ทึ่ช่วยระบายน้ำบริเวณถนนเพชรบุรี และอุโมงค์พระราม9 ทึ่ช่วยระบายน้ำบริเวณถนนรามคำแหง ซึ่งทั้ง 2 โซน แทบไม่พบปัญหาน้ำท่วมในระยะหลัง

สำหรับพื้นที่ชั้นใน กทม. มีแนวคิดที่จะสร้างท่อระบายน้ำเสริมจากของเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงคลองให้เร็วขึ้น รวมถึงงานก่อสร้างอุโมงค์บางซื่อ ที่กำลังจะแล้วเสร็จในปี2559 ส่วนพื้นที่รอบนอกที่พัฒนาขึ้นใหม่ เช่น โซนตะวันออก บริเวณเขตมีนบุรี มีการออกแบบท่อระบายน้ำให้รองรับได้ถึง 80 มม./ชม. เป็นพื้นฐาน

ทั้งนี้ขนาดท่อระบายน้ำไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพการระบายน้ำ แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งลักษณะอากาศ ลักษณะภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม เช่น เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ก็มีประสิทธิภาพการระบายน้ำฝนไม่เกิน 60 มม./ชม. เช่นเดียวกัน


by: DJ อภิสุข เวทยวิศิษฏ์


Cr:ภาพ@Nut096
X