!-- AdAsia Headcode -->

ก้อนเมฆแบบนี้ ใช่เมฆฝนรึเปล่า? ทำความรู้จักเมฆแต่ละชนิด รู้เท่าทันพยากรณ์อากาศ

19 มิถุนายน 2566, 12:23น.


      ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ บางครั้งเวลาฝนตกมักจะไม่มีสัญญาณเตือนให้เราได้รู้ก่อน บทฝนจะตกก็ตกลงมาแบบไม่ทันตั้งตัว ยังดีที่ในปัจจุบันมีแอปพยากรณ์อากาศบอกให้เรารู้ล่วงหน้า แม้จะตรงบ้างไม่ตรงบ้างแต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เราคาดเดาอากาศของวันนี้ได้ อีกหนึ่งวิธียอดฮิตที่สามารถทายพยากรณ์อากาศได้ ซึ่งเป็นวิธีที่หลายคนใช้มาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แถมในบางครั้งยังตรงกว่าแอปพยากรณ์อากาศซะอีก นั่นก็คือ การดูก้อนเมฆบนท้องฟ้า

      ก้อนเมฆ คือกลุ่มละอองน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากการควบแน่นของหยดน้ำในอากาศ การที่มองเห็นก้อนเมฆเป็นสีขาวหรือสีเทานั้น ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของหยดน้ำและอุณหภูมิ โดยทั่วไปการสังเกตก้อนเมฆง่ายๆหากเรามองเห็นก้อนเมฆเป็นสีขาวลอยสูงถือว่าเป็นวันที่อากาศดี ส่วนเมฆสีดำครึ้มลอยต่ำแสดงว่าจะมีฝนหรือพายุพัดเข้ามา

      ลักษณะก้อนเมฆ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ "เมฆแบบก้อน" จะเรียกว่า เมฆคิวมูลัส (Cumulus) และ "เมฆแบบแผ่น" จะเรียกว่า เมฆสตราตัส (Stratus) ซึ่งหากเมฆทั้ง 2 แบบลอยมาติดกัน จะเรียกว่า เมฆสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus) หากเมฆนั้นมีฝนเข้ามาเกี่ยวข้องชื่อเรียกของเมฆจะแตกต่างออกไป โดยเพิ่มคำเรียก "นิมโบ" หรือ "นิมบัส" เข้ามาด้วย เมฆสามารถแบ่งประเภทได้ตามความสูง เรียงลำดับตั้งแต่ สูง กลาง ต่ำ โดยแยกประเภทได้ดังนี้

เมฆชั้นสูง

เมฆเซอรัส หรือซีร์รัส (Cirrus) ลักษณะเป็นเส้นใยละเอียดสีขาว คล้ายปุยขนของสัตว์ เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆหรือแถบ ไม่มีเงาเมฆ เป็นเมฆที่บ่งบอกว่าอากาศดี เมฆชนิดนี้อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์วงแสงรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์

เมฆเซอโรคิวมูลัส หรือซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) ลักษณะเป็นหย่อมๆ แผ่น หรือชั้นบางๆ มีสีขาวคล้ายเมฆก้อนเล็กๆ บางครั้งอาจอยู่ติดๆกันหรือแยกกันเรียงตัวเป็นระเบียบสวยงาม เป็นเมฆที่บางบอกว่าอากาศดีเมฆชนิดนี้อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์วงแสงรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทรงกลด และปรากฏการณ์แถบสี หรือรุ้ง

เมฆเซอโรสเตรตัส หรือซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) ลักษณะโปร่งแสงคล้ายม่านบางๆ มีสีขาวคล้ายปุยขนของสัตว์ สามารถมองเห็นขอบดวงอาทิตย์ผ่านเมฆนี้ได้อย่างชัดเจน ไม่มีเงาเมฆ อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์วงแสงรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทรงกลด

เมฆชั้นกลาง

เมฆอัลโตคิวมูลัส (Altocumulus) มีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ เป็นหย่อมๆ หรือชั้นคล้ายเกล็ดปลา เป็นเมฆที่เกิดหลังพายุฝน มีทั้งสีเทาและขาวหรือทั้งสองสี บางครั้งอาจเห็นคล้ายปุยขนหรือฝ้า เป็นเมฆที่บ่งบอกถึงอากาศดี

เมฆอัลโตสเตรตัส (Altostratus) ลักษณะเป็นปุย แผ่น หรือเนื้อเดียวกัน มีทั้งสีเทาหรือสีฟ้าอ่อน เป็นเมฆที่ทำเกิดฝน หิมะ หรือลูกปรายน้ำแข็ง ถ้ามองดวงอาทิตย์จะเห็นได้แบบสลัวๆ เหมือนมองผ่านกระจกฝ้า

เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) ลักษณะเป็นเมฆแผ่นสีเทา มีความหนาทำให้ท้องฟ้าดูสลัว หากเห็นเมฆชนิดนี้อาจทำให้เกิดฝนตกปรอยๆแต่แดดออก หรือเห็นสายฝนที่ตกลงมาจากฐานเมฆ

เมฆชั้นต่ำ

เมฆสเตรตัส หรือสตราตัส (Stratus) ลักษณะเป็นแผ่นบาง มีสีเทา ลอยเหนือพื้นไม่มาก มักเกิดขึ้นช่วงเช้า หรือหลังฝนตก และอาจทำให้เกิดฝนละอองได้

เมฆสเตรโตคิวมูลัส หรือสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus) ลักษณะเป็นก้อนลอยติดกันเป็นแพ ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน มีสีเทาไปทางค่อนข้างขาว มักเกิดขึ้นในเวลาที่อากาศไม่ดี บรรยากาศมืดครึ้ม ทำให้เกิดฝนตกเล็กน้อย

เมฆคิวมูลัส (Cumulus) มี 2 ลักษณะ หากเมฆอยู่เป็นก้อนเดี่ยวๆ ลักษณะปุกปุย หนา มีสีขาวฐานเมฆสีเทา แสดงว่าอากาศดี ถ้าเมฆเริ่มจับตัวเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ อาจเกิดฝนฟ้าคะนองขึ้นได้

เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) หรือเมฆฝนฟ้าคะนอง เป็นเมฆที่มีลักษณะก้อนใหญ่ หนาทึบ ก่อตัวเป็นแนวตั้งขึ้นไปสูง ฐานเมฆจะมืดครึ้มมาก มีขนาดใหญ่สามารถปกคลุมได้ทั้งจังหวัด เมฆลักษณะนี้ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง หรือมีลูกเห็บ



ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์



X