รถตู้ VS รถบัส รถประเภทไหนอันตรายกว่ากัน!? ตอน “เกาะประเด็นรถตู้”

15 มีนาคม 2559, 11:02น.



รถโดยสารสาธารณะไทย... รถตู้ รถบัส 1 ชั้น รถบัส 2 ชั้น ประเภทไหนอันตรายกว่ากัน?

ตอนที่ 1 “เกาะประเด็นรถตู้”

โดย.... ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย




      ประเด็นที่มีข่าวว่าคสช.จะยกเลิกรถตู้ที่ใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะวิ่งระหว่างจังหวัด ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็ดูเหมือนเป็นเพียงการจัดระเบียบรถตู้ที่ผิดกฎหมาย ให้มาลงทะเบียนภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางบก เพื่อดูแลในเรื่องของความปลอดภัย และการแก้ไขปัญหาที่จอดรถ ถึงกระนั้นก็ยังคงมีคำถามตามมามากมายว่า รถตู้ไม่ปลอดภัยสำหรับนำมาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะจริงหรือ

      ถ้ามาดูที่ตัวเลขทางสถิติของอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทย จะพบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยส่วนใหญ่ จะเกิดกับประเภทรถโดยสารสาธารณะหลักๆ อยู่ 3 ประเภท ได้แก่ รถตู้ รถบัสชั้นเดียว และรถบัสสองชั้น ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกในปี พ.ศ. 2558 นั้นพบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารสาธารณะ ต่อจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะที่จดทะเบียน 10,000 คัน สูงกว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียว ต่อจำนวนรถบัสชั้นเดียวที่จดทะเบียน 10,000 คัน ถึง 2 เท่า หรืออธิบายได้ว่า “รถตู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่า รถบัส 1 ชั้น ถึง 2 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะนั้น ก็สูงกว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสชั้นเดียว ถึง 2 เท่า เช่นเดียวกัน หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่า “การเดินทางด้วยรถตู้โดยสารสาธารณะ มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่า การโดยสารรถบัสชั้นเดียว ถึง 2  เท่า ทั้งนี้จะยังไม่เปรียบเทียบกับรถบัสสองชั้นที่เป็นข่าวว่าจะมีการยกเลิกเช่นเดียวกัน





      จากข้อมูลทางสถิติ ก็บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ทำไมการโดยสารรถตู้สาธารณะถึงอันตรายกว่ารถบัส แต่ถ้าจะอธิบายกันด้วยเหตุผลก็มีอยู่หลายประเด็น คือ

1) รถตู้โดยสารสาธารณะมักใช้ความเร็วในการขับขี่สูง ทำให้มีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะผู้ขับขี่ต้องการทำรอบได้มากขึ้น เนื่องจากในแต่ละเที่ยว สามารถรับจำนวนผู้โดยสารได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับรถบัสที่มีขนาดใหญ่กว่า

2) รถตู้โดยสารสาธารณะบางคัน มีการบรรทุกผู้เดินสารเกินกว่าอัตราที่กำหนด เมื่อมีการบรรทุกน้ำหนักเกิน รถตู้จะเสียเสถียรภาพในการทรงตัวได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าขับขี่ด้วยความเร็วสูง รวมถึงเพิ่มโอกาสที่ยางจะระเบิดทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายเช่นเดียวกัน

3) การโดยสารรถตู้นั้น ผู้โดยสารต้องนั่งเบียดกันอยู่ในรถ ถ้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ผู้โดยสารจะกระแทกกันเองภายในตัวรถ มีโอกาสได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้มากกว่า

4) อุปกรณ์นิรภัยอื่นๆ ภายในรถ เช่น เข็มขัดนิรภัย ที่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ รวมถึง รถตู้ไม่มีทางออกฉุกเฉิน ถ้ามีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น เช่นเกิดอุบัติเหตุแล้วไฟไหม้ ผู้โดยสารก็ไม่สามารถหนีออกมาจากตัวรถได้ทัน


      ข้อมูลอุบัติเหตุยังชี้ให้เห็นด้วยว่า รถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 และ หมวด 3 นั้น มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าหมวดอื่นๆ (อัตราการเกิดอุบัติเหตุ 75-79 ครั้ง ต่อจำนวนรถตู้โดยสารสาธารณะจดทะเบียนในแต่ละหมวด 10,000 คัน) นั่นก็คือ รถตู้ที่วิ่งระหว่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด หรือ วิ่งระหว่างจังหวัดในภูมิภาค จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไม คสช.จึงพยายามหามาตรการในการคุมเข้มรถตู้หมวดเหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันกรมการขนส่งก็มีข้อบังคับว่ารถตู้สามารถวิ่งได้ในระยะ 300 กม. เท่านั้น แต่ก็ยังมีรถตู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายนี้อยู่ นอกจากนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า 300 กม. นั้นจริงๆ แล้วยังเป็นระยะทางที่มากไปสำหรับรถตู้ที่จะวิ่งได้หรือไม่ ควรจะกำหนดให้รถตู้สามารถวิ่งได้ในระยะสั้นกว่านี้หรือเปล่า ทั้งนี้ก็คงต้องรอการศึกษาของกรมการขนส่งทางบกร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะมีการศึกษาว่ารถตู้มีความเหมาะสมในการนำมาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะในระยะทางประมาณนี้ได้หรือไม่ หรือควรมีทางเลือกเป็นรถประเภทอื่น เช่น การนำรถมินิบัสมาใช้แทน เพราะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่ารถตู้ ตัวรถมินิบัสเองก็ไม่สามารถทำความเร็วได้มากนัก มีช่องว่างระหว่างผู้โดยสารมากกว่า ผู้โดยสารขึ้น-ลงตามป้ายจอดได้สะดวกกว่า แต่ทั้งนี้การจะนำทางเลือกอื่นมาใช้ หน่วยงานของรัฐก็ควรมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนถ่าย ทำให้ผู้ผลิตรถและผู้ประกอบการได้มีเวลาเตรียมการสำหรับการนำรถประเภทอื่นเข้ามาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะแทนรถตู้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชน  

บทความตอนหน้าจะพูดถึงรถบัสสองชั้น 

เพราะเป็นรถโดยสารสาธารณะอีกประเภท 

ที่ถูกพูดถึงในแง่ของความปลอดภัยเช่นเดียวกัน...



เครดิตข่าว จส.100 :  

กดติดตามทวิตเตอร์ จส.100 ได้ที่นี่ : 

กดติดตามไลค์เพจ จส.100 ได้ที่นี่ :

สามารถดาวน์โหลด JS100 แอพพลิเคชั่น ได้ที่ :
 

X