เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2559 คณะทำงานแผนงานสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) มูลนิธิถนนปลอดภัย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายเพื่อถนนปลอดภัย มูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทยปี 2557 เพื่อประโยชน์ในการติดตามการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายของปะเทศ จนถึงการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ปี 2554-2563 ขององค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก ที่มีมติให้ทุกประเทศทั่วโลกลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน และจำนวนผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่งจากที่เป็นอยู่
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกด้านอุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่าหลังจากที่ประเทศไทยเข้าร่วมปฏิบัติการขับเคลื่อน “ ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ” ได้วางเป้าหมายลดการเสียชีวิตลงร้อยละ 50 จากที่เป็นอยู่ตามแนวทาง 5 เสาหลัก คือ 1.การบริหารจัดการที่เข้มแข็ง 2.การจัดการโครงสร้างพื้นฐานและถนนที่ปลอดภัย 3.การจัดการยานพาหนะที่ปลอดภัย 4.ผู้ใช้รถใช้ถนนปลอดภัย 5.ระบบการดูแลรักษาหลังเกิดเหตุ โดยที่ผ่านมาพบว่าเสาหลักที่ 5 ด้านการดูแลรักษาหลังเกิดเหตุมีผลที่น่าพึงพอใจ แต่เสาหลักอื่นที่ยังประสบปัญหาโดยเฉพาะ “ด้านบริหารจัดการและการบังคับใช้กฎหมาย”
ดร.ศาสตราวุฒิ พลบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร ผู้จัดการโครงการสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ปีพ.ศ. 2557 เผยว่า
1.) ผลการศึกษาปีพ.ศ.2557 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศ 21,429 คน ลดลงจาก พ.ศ.2555 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 23,601 คน (ลดลง 2,172 คน)
2.) จำนวนผู้ประสบเหตุทางถนนทั้งหมด 1,128,384 คน บาดเจ็บสาหัส 142,136 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 964,819 คน หรือ “เฉลี่ยทุกๆ 24นาที จะมีคนเสียชีวิตบนถนนอย่างน้อย 1 คน!!”
3.) จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุ 76% เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รองลงมา คือรถจักรยาน 8.8% คนเดินเท้า 4%
4.) กลุ่มผู้ประสบอุบัติเหตุสูงที่สุด 1ใน 4 ตามอายุ คือ อายุ 15-24ปี
5.) จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด 10 อันดับแรก คือ ระยอง(74.73 ต่อแสนประชาชน) ปราจีนบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระบุรี เพชรบุรี ชุมพร ฉะเชิงเทรา ตาก และพระนครศรีอยุธยา
6.) จังหวัดที่มีการลดอัตราเสียชีวิตต่อแสนประชากร ลดลงมากกว่า 20 คนต่อแสนประชากร คือ เลย บึงกาฬ พิจิตร อ่างทอง สระบุรี นครนายก พังงา นครศรีธรรมราช และตรัง
7.) การสำรวจด้านการบังคับใช้กฎหมาย จำนวนการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี ได้แก่ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับรถย้อนศร ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่
ประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการมุ่งเน้นสำหรับประเทศไทย คือ “การบริหารจัดการที่เข้มแข็ง พัฒนาระบบข้อมูล การติดตามกำกับที่จริงจัง และการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ” คือการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมาย 1.การใช้ความเร็ว โดยเฉพาะในเขตเมืองที่สูงถึง 80 กม./ชม. ให้ลดลงตามมาตรฐานสากล (50 กม./ชม.) 2.กฎหมายและการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยในผู้โดยสารตอนหลัง 3.การสวมหมวกนิรภัย 4.เมาแล้วขับ (กำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ไม่เกิน 20มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) 5.การบังคับใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก 6.ระบบโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานยานพาหนะ
และให้ประชาชนทุกคนตระหนักว่าปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย อยู่ในขั้นวิกฤต ให้ช่วยกันสอดส่อง และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคม
ผู้สื่อข่าว : วริศรา ชาญบัณฑิตนันท์
สามารถติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสถานีวิทยุ จส.100 ได้ทาง
สามารถดาวน์โหลด JS100 Application ได้ทั้งระบบ IOS และ Andriod ฟรี!!