มูลนิธิไทยโรดส์เผยผลสำรวจ “การให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน ในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2558

03 มีนาคม 2560, 18:55น.


           ที่ผ่านมาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตเด็กไทยปีละ กว่า 1,000 คน รัฐบาลจึงกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และ ศปถ.กำหนดให้ปี 2558 เป็นปีรณรงค์สร้างความ ปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก จนนำมาสู่การให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนในหลักสูตรการเรียนการสอน ของสถานศึกษาในประเทศไทย และให้ความสำคัญกับการจัด “ระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน” 





          นายณัฐพงศ์ บุญตอบ นักวิจัยอาวุโส มูลนิธิไทยโรดส์ เปิดผลการสำรวจ “การให้ความรู้เรื่อง ความปลอดภัยทางถนนในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2558” พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยถึง 74% กับการกำหนดให้มี “หลักสูตรเรื่องความปลอดภัยทางถนน” ทุกชั้นปี ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการในอนาคต โดยร่วมมือจากหลายภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน คือ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร  สำนักงานกองทุน สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) SAFE THE CHILDREN มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และมูลนิธิบลูมเบอร์ก สหรัฐอเมริกา

           นางสาววรรณพร ปันทะเลิศ นักวิจัยมูลนิธิไทยโรดส์  เผยผลการสำรวจที่ได้จาก กลุ่มตัวอย่าง 437 โรงเรียน มี 4 ส่วนสำคัญ





           ในส่วนแรกเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน จำนวนโรงเรียนที่ตอบแบบสอบถามกลับมีจำนวน 429 ชุดจาก 437 แห่ง ขนาดโรงเรียนที่เปิดสอนในปีการศึกษา 2558 จาก 429 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนไม่เกิน 400 คน จำนวน 40% ขนาดกลางมีนักเรียน 401-800 คน และขนาดใหญ่มีนักเรียน 801 คน ขึ้นไป 29% ระดับชั้นตั้งแต่ อนุบาลถึง ป.6 จำนวน 321 แห่ง อนุบาลถึง ม.3 จำนวน 93 แห่ง อนุบาลถึง ม.6 จำนวน 5 แห่ง ป.1-ป.6 จำนวน 3 แห่ง ป.1-ม.3 จำนวน 1 แห่ง และ ม.1-ม.6 จำนวน 6 แห่ง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็น ครู คศ. 1 จำนวน 27.3% ผู้ตอบมีประสบการณ์น้อยสุด 1 เดือน มากสุด 55 ปี เฉลี่ยผู้ตอบแบบสอบถาม เฉลี่ย 8-9 ปี

           ส่วนที่ 2 ถือเป็นจุดสำคัญที่สุดเพราะเป็นเรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผลของชั่วโมงสอน เรื่องความปลอดภัยทางถนน ปี 2558 มีทั้งแบบในชั้นเรียน กับ แบบเสริมนอกชั้นเรียน พบว่า ระดับอนุบาลถึง ป.6 มีการเรียนในชั้นเรียนเฉลี่ย 40 นาทีต่อปีการศึกษาปี 2558 หลักสูตรเสริมนอกชั้นเรียนเฉลี่ย 43 นาทีต่อปีการ ศึกษา 2558 ส่วนชั้นเรียนอนุบาลถึง ม.6 เฉลี่ย 38 นาทีต่อปีการศึกษา 2558 และเสริมนอกชั้นเรียน 39 นาทีต่อปีการศึกษาเดียวกัน

            ส่วนที่ 3 ด้านการบูรณาการกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มีความเชื่อมโยงของหลักสูตรฯ และการบูรณาการ กับกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทั้งหลักสูตรแกนกลาง หลักสูตรกรุงเทพฯ ศึกษา และ หลักสูตรสถานศึกษา มีทิศทางเดียวกันในการนำเรื่องความปลอดภัยทางถนนไปบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพละ-ศึกษามากที่สุด สำหรับหลักสูตรอื่นๆ ได้แก่ หลักสูตรปฐมวัย ทักษะชีวิต กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

             ด้านสาเหตุที่นำความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนมาบูรณาการในการเรียนการสอนของโรงเรียนในปีการศึกษา 2558 พบว่ามาด้วยคำสั่งจากสังกัด หน่วยงาน  204 โรงเรียน  นโยบายของโรงเรียน 259 โรงเรียน จัดตามหลักสูตร 232 โรงเรียน และได้รับงบประมาณจากโครงการฯ ที่เข้าร่วม 39 โรงเรียน ส่วนลักษณะกิจกรรมเรื่องความปลอดภัยทางถนนฯ เป็นกิจกรรมเสริมนอกเหนือการสอนในชั้นเรียน 2 รูปแบบ คือ จัดโดยบุคลากรในโรงเรียน / จัดโดยหน่วยงานภายนอก มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ข่าวสารเรื่องความปลอดภัย ทางถนนบริเวณหน้าเสาธง ห้องโฮมรูม เสียงตามสายเช้า-เย็น (62.2% / 17.2%)  ทำค่ายอบรม (12.2% / 74.5%) จัดกิจกรรมรณรงค์ ปลูกจิตสำนึก เดินขบวน ประกวดแข่งขัน (15.3%/4.7%) สื่อการเรียนรู้และหมวกนิรภัย (0%/1.8%) และการติดตามประเมินผลพฤติกรรมนักเรียน (10.2% / 2%)

               หน่วยงานที่สนับสนุนการเรียนการสอนเรื่องความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษา ประกอบด้วย สำนักการศึกษา สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร 36.3% เจ้าหน้าที่ตำรวจ 36% กรมการขนส่งทางบก 11.6% ภาคธุรกิจเอกชน 11.3% หน่วยงานอื่นๆ 3.3% และ สสส. 1.5%

               การเพิ่มสมรรถนะในการถ่ายทอดความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนของคุณครูผู้สอนในโรงเรียนสังกัด กรุงเทพมหานคร พบว่า ได้ส่งคุณครูเข้าร่วมอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการถ่ายทอดความรู้ด้าน ความปลอดภัยทางถนน มีจำนนโรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้งหมด 108 โรงเรียน ส่งครูเข้าอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มทักษะ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง 74% ยังไม่ได้เข้าร่วมอบรม 26%

                ส่วนที่ 4 ทัศนคติ/ความคิดเห็นต่อการบรรจุความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนไว้ในหลักสูตรการเรียน การสอน มีข้อจำกัด 5 ด้าน คือ ข้อจำกัดของเวลาและโครงสร้างหลักสูตรมีวิชาสาระการเรียนรู้บรรจุไว้ เป็นจำนวนมาก 27.3% โครงสร้างหลักสูตรที่มีอยู่เต็มได้กำหนดไว้อย่างเหมาะสมแล้ว 25.3% ไม่ให้ความสำคัญ ต่อเรื่องความปลอดภัยทางถนนไม่ได้นำไปบูรณาการกับทุกสาระการเรียนรู้เท่าที่ควร 23.3% และโครงสร้าง นโยบายของหลักสูตรฯไม่มีความชัดเจนและถูกปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง 19.2% โครงสร้างหลักสูตรมีตัวชี้วัดแต่ละ กลุ่มสาระฯ มากจนไม่สามารถสอดแทรกเนื้อหา / บูรณาการได้ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระ 5.1%





                ส่วนข้อจำกัดความเหมาะสมของเนื้อหา รูปแบบกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน จากความคิดเห็นของ 165 โรงเรียนพบว่า 34.5% เนื้อหารูปแบบกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ไม่เหมาะสมตามวัย ผู้เรียนและไม่ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา 31.5% บอกว่า โรงเรียนมีสื่อการเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนนน้อย หรือไม่มีเลย 12.1% ตอบว่าเรียนรู้ไปก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่มาก เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย และไม่ทันสมัย ไม่ดึงดูดใจและสอดรับสถานการณ์จริงปัจจุบัน  ด้านการสนับสนุนและความร่วมมือของผู้ปกครอง ชุมชน 141 โรงเรียนพบว่า  ผู้ปกครอง ชุมชนไม่ใส่ใจ 40.4%  ให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนน้อย 39.7% ขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องและปลอดภัย 10.6% พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนบริเวณ รอบโรงเรียนและชุมชน ไม่เอื้ออำนวย เช่น ค้าขายบริเวณถนนหน้าโรงเรียน ขี่จักรยานยนต์ย้อนศรหรือบนทาง เดินเท้า ไม่เลนถนนชัดเจน เป็นต้น

                ความคิดเห็นอื่นๆ จาก 35 โรงเรียน พบว่า บทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการใช้รถใช้ถนน เพื่อเข้ามาให้ความรู้และจัดกิจกรรมมีน้อยมากหรือไม่มีเลย 51.4% จิตสำนึกและวินัยจราจร ควรปลูกฝังตั้งแต่เด็กมี 22.9% งบประมาณและบุคลากรไม่เพียงพอ 11.4% จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 8.6% และ บริบทและสภาพ แวดล้อมของโรงเรียนไม่เอื้ออำนวย 5.7%

                ปัจจัยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและนำความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนฯ ไปบูรณาการกับการเรียนการสอนในโรงเรียน พบว่า ความชัดเจนของการจัดทำหลักสูตรและกำหนดตัวชี้วัด 45.6% หลักสูตรที่มีอยู่เหมาะสมแล้ว 28.5% เพิ่มเวลารู้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 14.5% เสริมการมีส่วนร่วมและ การจัดเวลากับเนื้อหา 4.6% ความต่อเนื่อง 2.1%





                ทั้งนี้มีการเสนอความเห็นว่า ควรมีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการขยายผลการสำรวจฯ ไปถึงระบบโรงเรียนสามัญศึกษา เป็นระยะต่อไปกับโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครให้ครบ 821 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาล 159 แห่ง กับ โรงเรียนเอกชน 662 แห่ง  สำหรับระยะที่ 3 ควรทำกับโรงเรียนทั่วประเทศ ทั้ง 33,717 โรงเรียน เป็นโรงเรียนรัฐบาล 30,560 แห่ง โรงเรียนเอกชน 3,157 แห่ง

X