!-- AdAsia Headcode -->

ถาม-ตอบ สรุปประเด็นรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ถอดเบาะบางส่วนเพิ่มพื้นที่โดยสาร

23 พฤศจิกายน 2560, 20:19น.


          จากกรณีที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำหนึ่งในแนวทางการเร่งขนส่งระบายผู้โดยสารให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ด้วยการถอดที่นั่งบางส่วนภายในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา โดยเกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง จนวันนี้ทางผู้บริหาร รฟม. และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อดูปัญหาความเดือดร้อนจากผู้ใช้บริการจริง พร้อมชี้แจงเหตุผลด้านต่างๆ JS100 ขอรวบรวมปัญหาที่ถูกถาม-ตอบ มากที่สุด ดังนี้

          ถอดเก้าอี้ออกทำไม? 

การถอดเก้าอี้ออกก็เพื่อให้มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารสามารถยืนภายในรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น 100 คน/ขบวน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น พบปัญหาผู้โดยสารตกค้างในแต่ละสถานีจำนวนมาก อาจไม่ได้เดินทางในขบวนที่มาถึงในทันที



          ถอดเยอะแค่ไหน?

รถไฟฟ้า 1 ขบวน มีจำนวน 3 ตู้ต่อกัน สำหรับเก้าอี้ที่อยู่ตรงกลางในแต่ละตู้ จะถูกถอดออกรวมทั้งสิ้นจำนวน 42 ที่นั่ง แต่ยังเหลือที่นั่งในขบวนรถไฟฟ้าอีกจำนวน 84 ที่นั่ง มีที่นั่งสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ และสตรีมีครรภ์ตามมาตรฐานเดิม

           
ต่อไปนี้จะไม่มีเก้าอี้แล้วใช่ไหม?

ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองจำนวน 1 ขบวน ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อประเมินผลพร้อมสอบถามความคิดเห็นของผู้โดยสารที่ใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน ประกอบการพิจารณาและหาข้อสรุปอีกครั้ง



          ต่อตู้ในแต่ละขบวนดีกว่าไหม?

แม้ชานชาลาจะถูกออกแบบให้รองรับไว้ตั้งแต่แรก แต่การต่อตู้ในแต่ละขบวนต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆหลายด้าน อาทิ ปริมาณความหนาแน่นของผู้โดยสารตลอดทั้งวัน(ไม่ใช่แค่ชั่วโมงเร่งด่วน) การคำนวณระยะเวลา ความเร็ว และความห่างของขบวนรถไฟฟ้า ไปจนถึงด้านเทคนิคที่ต้องคำนวณมอเตอร์ขับเคลื่อนรถไฟฟ้าเดิมเพิ่มเติมด้วย

            
ทำไมไม่เพิ่มขบวน?

ขณะนี้ รฟม. ได้สั่งซื้อขบวนรถไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 35 ขบวน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเดินรถสายสีน้ำเงิน โดยปลายปี 2561 จะมาก่อน 1 ขบวน นำมาทดลองวิ่งในระบบ 3-4 เดือน หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม 2562 จะนำเข้ามาอีก 3 ขบวน นำมาทดสอบระบบ และจะใช้วิ่งในเส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อในเดือนเมษายน 2562  ส่วนที่เหลืออีก 31 ขบวนจะมาครบภายในปี 2562



          เอาเปรียบผู้โดยสารทำไม?

แท้ที่จริงแล้วเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารเดินทางได้รวดเร็วขึ้น ลดปัญหาผู้โดยสารล้นขบวน อีกทั้งภายตู้รถไฟฟ้าที่ถอดเบาะออก ได้เพิ่มห่วงมือในราวจับให้อีก 32 ห่วงต่อตู้ รวมเพิ่มเป็น 96 ห่วง/ขบวน ส่วนประเด็นเรื่องสัญญาสัปทานการให้บริการเดินรถนั้น ไม่ได้มีระบุว่าจะต้องมีจำนวนที่นั่งหรือจำนวนคนยืนเท่าใด เพียงแต่กำหนดจำนวนผู้โดยสารว่าใน 1 ขบวน จะต้องรับผู้โดยสารอย่างต่ำ 900 คน

           
ความปลอดภัย? ความแออัด?

ความปลอดภัยยังคงอยู่ในมาตรฐานเช่นเดิม หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ยังพบว่ามีจำนวนผู้โดยสารที่หนาแน่นกว่าตลอดทั้งวัน(ไม่ใช่แค่ชั่วโมงเร่งด่วนเหมือนกทม.) และในหลายประเทศได้ถอดเบาะออกเช่นกัน เนื่องจากระยะทางขนส่งไม่ได้ไกลมาก การขับเคลื่อนมีความนุ่มนวล สามารถยืนจับห่วงหรือราวได้อย่างปลอดภัย



          ถอดเบาะ งั้นลดราคาบ้างสิ?

การกำหนดอัตราค่าโดยสาร เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานและดัชนีผู้บริโภค ซึ่งจะมีการพิจารณาทุก 2 ปี โดยครั้งที่ล่าสุดก็มิได้ปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด ยังคงอัตราค่าโดยสารเดิมจนถึงสิ้นปี2561

           
แก้ปัญหาแค่เฉพาะหน้า?

การถอดเบาะ เป็นเพียงแนวทางทดลองเบื้องต้นที่ถูกนำมาใช้บรรเทาความเดือดร้อนของผู้โดยสาร ส่วนในระยะถัดไปเป็นการเพิ่มจำนวนขบวน โดยที่ผ่านมาต้องมีขั้นตอนจำนวนมาก ทั้งการคำนวณจำนวนผู้โดยสาร ความคุ้มค่า การจัดซื้อ การผลิต การขนส่ง นำเข้า ทดสอบระบบ ใช้จริง ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ดำเนินมาถึงขั้นตอนการนำเข้าแล้ว



         ซื้อตั๋วนั่ง กลายเป็นต้องยืน?

การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ออกแบบให้ผู้โดยสารสามารถยืนจับห่วงหรือราวเพื่อทรงตัวขณะรถไฟฟ้าวิ่งได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น "ตั๋วโดยสาร" จึงไม่ใช่การซื้อ"ตั๋วนั่ง-ตัวยืน" แต่เป็นการซื้อเพื่อโดยสารไปยังสถานีต่างๆ ส่วนเก้าอี้เป็นการอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมที่ยังคงมีอยู่ตามความเหมาะส


          JS100 หวังว่าข้อมูลที่เรียบเรียงมาให้จะเป็นประโยชน์ ประกอบการแสดงความคิดเห็นที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อช่วยพัฒนาระบบขนส่งทางรางในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดทางท้องถนนอีกด้วย



 



 



 

X