นักภูมิศาสตร์ เผยภายใน'ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน' เป็นปล่องกลม เพดานเตี้ย 1.20ม. ยืนยันเข้า-ออกเป็นทางตรง

25 มิถุนายน 2561, 14:38น.


    นายอนุกูล สอนเอก นักภูมิศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ครั้งแรกเมื่อปี 2535 และครั้งต่อมาเมื่อปี 2555 เมื่อเทียบกับปัจจุบันกายภาพด้านในถ้ำไม่น่าจะแตกต่างกันมาก ตัวถ้ำจะเป็นปล่องกลม เพดานเตี้ย มีความสูงเพียง 1.20 เมตร ด้านในมีโถง มีอากาศหายใจ พื้นเป็นทราย และน้ำที่ไหลมาจากบนภูเขา ซึ่งจะไหลอย่างช้าๆ หากน้ำเยอะก็จะค่อยๆท่วมเรื่อยๆ และลดลงช้ามาก เพราะจะมีตาน้ำจากใต้ดินคอยเติม อย่างไรก็ตามหากเป็นผู้สำรวจถ้ำที่มีความชำนาญเส้นทางจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที เนื่องจากภายในถ้ำจะเป็นทางตรงอย่างเดียว ไม่มีทางให้เลี้ยวออกไปทางอื่น แต่ติดตรงที่มืดสนิท เหมือนคนตาบอด ถ้ามีไฟฉายก็ดีหน่อย พอมองเห็นเส้นทางได้ สำหรับตนเองเคยสำรวจเข้าไปลึกถึง 6 กม. และชาวสวีเดนที่มาช่วยเจ้าหน้าที่ค้นหาก็รู้จักกันดี ทราบว่าสำรวจถ้ำนี้มาอย่างเชี่ยวชาญ 






    สำหรับความคืบหน้าในการค้นหาผู้พลัดหลงจำนวน 13 คน ล่าสุด 13.11น. สยาม01 ประธานกู้ภัยสยามรวมใจ (ปู่อินทร์) เพิ่มเติมว่า หน่วยซีลจากกองทัพเรือสามารถเข้าไปถึงโถงที่ 2 ได้แล้ว ยังคงค้นหากันอย่างสุดความสามารถ สภาพอากาศมีฝนตกสลับหยุดตั้งแต่เมื่อคืน ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นมา ส่วนครอบครัวผู้พลัดหลงยังคงรอติดตามอยู่ที่เกิดเหตุด้วยความหวัง



   หน่วยงานพยายามสนับสนุนการช่วยเหลือครั้งนี้ อาทิ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ส่งชุดปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ นำเครื่องมือตรวจจัดวัดค่าปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนมอนอกไซด์ สนับสนุนภารกิจค้นหา และนำ Came Light ซึ่งเป็นน้ำที่อยู่ในแท่งส่องสว่างเรืองแสง สามารถส่องสว่างแสงได้ถึง 12 ชม. และไม่มีควัน ,ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าให้การสนับสนุนกระแสไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ โดยใช้วิธีปักเสา พาดสายไฟมาให้ใหม่จากพื้นที่วนอุทยานเข้ามา ซึ่งคาดว่าลากสายไฟเข้าไปได้ประมาณ 3 กม. ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 2 กม.



  (ภาพจาก : เสือ-ศปภ1576/57-11)
X