!-- AdAsia Headcode -->
เมื่อเริ่มสูงวัย ร่างกายย่อมเสื่อมลงไปตามกาลเวลา การเอาใจใส่ต่อสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็น มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กว่าจะทราบถึงสุขภาพของตนเองก็ต่อเมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง หลายคนคิดว่าการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปก็เพียงพอ แต่ไม่จริงเสมอไป หลายคนพบว่าตนเองออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยก็มีอาการอ่อนเพลียมาก ทั้งๆ ที่ผลการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่ในเกณฑ์ปกติ ฉะนั้นการรู้เท่าทันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากความเสื่อม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจเพื่อจะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
พญ.ธันยาภรณ์ ตันสกุล แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลรักษาสุขภาพที่ดีและถูกสุขลักษณะ จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหรือปัญหาทางสุขภาพที่มักเกิดขึ้นเมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่อายุประมาณ 60-65 ปีขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราส่วนของผู้สูงอายุเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมดและมากกว่าประชากรเด็ก ประมาณ 11 ล้านคน จาก 66 ล้านคน ซึ่งนับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากประเทศสิงคโปร์ การตรวจสมรรถภาพในผู้สูงอายุ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคต่างๆ โดย 10 ความเสี่ยงดังต่อไปนี้ คือสิ่งที่ผู้สูงอายุควรรู้
1) อารมณ์ซึมเศร้า (Depression) ปัญหาสุขภาพจิตคือปัญหาสำคัญในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้ามีโอกาสเป็นได้มากกว่าวัยอื่น เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและบทบาทในสังคมอาทิ ผมขาว ผิวหนังเหี่ยวย่น นั่งและยืนนานๆ ไม่ได้ เป็นต้น หากผู้สูงอายุรับไม่ได้กับภาวะที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดอาการเบื่อหน่าย หมดกำลังใจ ขาดความรัก รู้สึกว่าไม่มีคุณค่าและไม่มีใครต้องการ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตผู้สูงอายุที่ใกล้ชิด หากมีภาวะแยกตัว เบื่อหน่าย หรือทุกข์ใจ ไม่ควรละเลย ควรรีบปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการตรวจความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและความประเมินการแสดงออกทางอารมณ์ การแสดงออกทางความคิด ทางพฤติกรรม และการแสดงออกทางกาย เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติทางอารมณ์ในผู้สูงอายุ
2) การล้ม (Fall) เป็นปัญหาที่พบบ่อยและอันตรายมากในวัยสูงอายุ จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการล้ม 28-35% ส่วนในผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการหกล้มเพิ่มขึ้นเป็น 32-42% โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนที่ไปเข้าห้องน้ำ เนื่องจากสูญเสียการทรงตัว เพราะสมอง กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ เกิดความเสื่อม การได้ยินและมองเห็นลดลง ทำให้มีโอกาสลื่นล้มได้ง่าย ซึ่งการบาดเจ็บมีตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงขั้นรุนแรง พิการและเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรดูแลใส่ใจและหมั่นสังเกตการทรงตัวของผู้สูงอายุ หากเกิดการล้มควรให้อยู่ในท่าเดิมและรอผู้เชี่ยวชาญมาทำการเคลื่อนย้ายเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง และแม้จะบาดเจ็บไม่มากก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอีกครั้ง ควรมีการตรวจประเมินการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุด้วยการตรวจ Tandem Standing Test เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบถึงภาวะทรงตัวบกพร่องและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการหกล้มและได้รับบาดเจ็บ เพราะการทรงตัวบกพร่องจะเสี่ยงต่อการหกล้มได้ 4-5 เท่า และแบบทดสอบ Time Up and Go Test เพื่อประเมินความเสี่ยงในการหกล้มสำหรับผู้สูงอายุ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว
3) สมองเสื่อม (Dementia Disease) ภาวะสมองเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการรู้คิด (Cognitive Function) ซึ่งเป็นกระบวนการรับรู้ เรียนรู้ และวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากสมองทำหน้าที่ผิดปกติไปจากเดิม เสื่อมลง จากการที่อายุมากขึ้น โรคต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึมเศร้า โรคทางระบบประสาท เป็นต้น รวมถึงพันธุกรรมก็มีส่วนด้วยเช่นกัน ดังนั้นการกระตุ้นการรู้คิดผ่านกิจกรรมต่างๆ จึงมีประโยชน์อย่างมาก เช่น จับคู่ภาพ ทายคำ ต่อจิ๊กซอว์ วาดรูป หมากรุก เป็นต้น เพื่อกระตุ้นการคิด อ่าน สมาธิ ความจำ โดยมุ่งเน้นขั้นตอนการทำกิจกรรมที่ชัดเจนเข้าใจง่ายมากกว่าผลของกิจกรรม นอกจากนี้ยังควรตรวจประเมินความสามารถด้านการเรียนรู้และการรับรู้ เพื่อหาความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ นำไปสู่การป้องกันและการรักษาอย่างเหมาะสม
4) กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Weakness) ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะจำนวนขนาดและเส้นใยของกล้ามเนื้อบวกกับกำลังการหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว ซึ่งอาการอ่อนแรงมีหลายระดับ ตั้งแต่กำมือแน่น ไม่แน่น ไปจนถึงการยกขา บางคนเมื่อเป็นแล้วอาจมีอาการช่วงสั้นๆ แล้วหายไป แต่บางครั้งไม่มีสัญญาณเตือนและมีอาการรุนแรงได้เช่นกัน ดังนั้นการหมั่นสังเกตและตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทาง อย่างการตรวจประเมินกำลังกล้ามเนื้อขา ด้วยการตรวจ Five Time Sit to Stand จะมีการจับเวลาผู้สูงอายุในการลุกนั่ง 5 ครั้ง เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสามารถในการรับความรู้สึก การทรงตัว และความเร็วในการเคลื่อนไหว
5) การเดินผิดปกติ (Abnormal Walking) สมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุจะเสื่อมลงตามวัย โดยเฉพาะการเดินที่ช้าลง การก้าวเท้าที่สั้นลง เนื่องจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ การประหยัดพลังงานที่ใช้ในการยืน เดิน อีกทั้งเมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลบางครั้งไม่สามารถเดินได้ ดังนั้นการออกกำลังกายด้วยการเดินวันละ 20 - 30 นาทีทุกวัน โดยใส่เครื่องพยุง เช่น ข้อเท้าและข้อเข่า เลือกรองเท้าที่เหมาะกับการเดิน ย่อมช่วยป้องกันการล้มและการบาดเจ็บของข้อต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ความเร็วในการเดินยังเป็นตัวพยากรณ์อายุขัย (Mortality) ได้ด้วย โดยพบว่าผู้สูงอายุในวัย 75 ปีที่เดินช้าเสียชีวิตเร็วกว่าผู้สูงอายุที่เดินด้วยความเร็วปกติถึง 6 ปี และเสียชีวิตเร็วกว่าผู้สูงอายุที่เดินเร็ว 10 ปี การตรวจประเมินสมรรถภาพผู้สูงอายุด้วยการวัดความเร็วในการเดิน(4 Meter Gait Speed Test) จะเป็นการตรวจความบกพร่องของเนื้อเยื่อข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ ดูความสามารถในการควบคุมสมดุลและการเดิน เพื่อให้ผู้สูงอายุทราบอัตราความเร็วในการ ระยะก้าว เป็นต้น
6) ประสาทสัมผัส (Sense) ทางหู การได้ยินลดลง มีอาการหูตึงมากขึ้น การเสื่อมของอวัยวะในหูชั้นในมีมากขึ้น เสียงพูดเปลี่ยนไป เพราะกล้ามเนื้อกล่องเสียงและสายเสียงบางลง ระดับเสียงสูงจะได้ยินน้อยกว่าระดับเสียงต่ำ มีข้อมูลวิจัยระบุว่า การสูญเสียการได้ยินในผู้สูงอายุจะเสียเสียงสูงก่อน นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการเวียนศีรษะและเคลื่อนไหวไม่คล่อง เนื่องจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในมีภาวะแข็งตัว ทางตา การมองเห็นไม่ดีเหมือนเคย เนื่องจากรูม่านตาเล็กลงและตอบสนองต่อแสงลดลง หนังตาตก แก้วตาเริ่มขุ่นมัว เกิดต้อกระจก ลานสายตาแคบ กล้ามเนื้อลูกตาเสื่อม ความไวในการมองภาพลดลง สายตายาว เวลามืดหรือกลางคืนการมองเห็นจะไม่ดี ตาแห้งและเยื่อบุตาระคายเคืองง่าย ทางจมูก การดมกลิ่นไม่ดีเหมือนเดิม เนื่องจากเยื่อบุโพรงจมูกเสื่อม ต่อมรับรสทำหน้าที่ลดลง การรับรสของลิ้นเสียไป อาจเกิดภาวะเบื่ออาหาร โดยรสหวานจะเสียก่อนรสเปรี้ยว รสขม และรสเค็ม
7) ระบบขับถ่าย(Bowel and Bladder System จากการเสื่อมของเซลล์และกล้ามเนื้อหูรูดต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาระบบขับถ่าย ปัสสาวะ มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อย ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าและรุนแรงกว่าผู้ชาย เนื่องจากหมดประจำเดือนถาวร ทำให้ขาดฮอร์โมนเพศ อุจจาระ ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ที่สำคัญคือท้องผูกเป็นประจำ เนื่องจากกระเพาะอาหารและลำไส้ลดการบีบตัวตามอายุ เคลื่อนไหวน้อย ไม่ออกกำลังกาย ทานผักผลไม้น้อย ดื่มน้ำน้อย รวมถึงอาจเป็นจากผลข้างเคียงของยาที่ทานเข้าไป
8) กระดูกพรุน (Senile Osteoporosis) ปัญหากระดูกของผู้สูงอายุ คือ แคลเซียมจะสลายออกจากกระดูกมากขึ้น ทำให้น้ำหนักกระดูกลดลง เปราะ หักง่าย ความยาวกระดูกสันหลังลดลง หมอนรองกระดูกบางลง หลังค่อมมากขึ้น ความสูงลดลง เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก ตึง แข็ง อักเสบ ติดเชื้อง่ายขึ้น ดังนั้นหากออกกำลังกายประจำจะช่วยลดความเบาบางของมวลกระดูกได้ รวมทั้งการทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ที่สำคัญคือตรวจเช็กกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหากระดูกพรุนได้ถูกวิธี
9) ท่าทางและการทรงตัว (Posture and Balance) ท่าทางของผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิตประจำวันมีความสำคัญ เพราะอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต้องทำงานร่วมกัน ที่สำคัญท่าทางและการทรงตัว ที่ดีส่งผลต่อความคล่องตัวในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งปัญหาที่พบค่อนข้างบ่อย เช่น เดินแอ่นหลัง เดินหลังค่อม เดินเซ ก้าวเท้าสั้นลง ขณะก้าวปลายเท้าจะออกด้านข้างมากกว่าหนุ่มสาว เป็นต้น ซึ่งสามารถทำให้ดีขึ้นได้โดยการทำกายภาพ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวและเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสรีระของแต่ละบุคคลด้วย ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจประเมินการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุ ด้วยการตรวจ Tandem Standing Test ร่วมกับการตรวจประเมินอื่น ๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจะได้เคลื่อนไหวและออกกำลังกายได้ถูกท่า
10) ความอึด (Endurance) เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความอึดย่อมลดลงยกตัวอย่างเช่น เมื่ออายุ 40 ปี และอายุ 50 ปีขณะที่ขึ้นบันไดในจำนวนขั้นที่เท่ากัน ความอึดอาจไม่เท่ากัน ในวัย 50 ปีอาจจะรู้สึกเหนื่อยง่ายมากขึ้นและอดทนได้น้อยกว่า เป็นต้น ฉะนั้นการออกกำลังกายเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ อย่างการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ จะช่วยเพิ่มความทนทานของระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของปอด เนื่องจากมีการใช้ออกซิเจนสันดาปไขมันสร้างพลังงานให้กล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยต้องเลือกชนิดการฝึกที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจประเมินสมรรถภาพ กำลังกล้ามเนื้อ การทรงตัว ความเสี่ยงในการล้มโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลตนเองอย่างถูกต้อง
ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจเพื่อประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ลดโอกาสการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีในยามสูงวัยด้วย การได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัดจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุดึงศักยภาพตามวัยออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยแพทย์จะเลือกวิธีการกายภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพเรื่องเทคนิค วิธีการและระยะเวลาในการฝึกฝน ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในแต่ละคน ซึ่งมีศักยภาพในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดียามสูงวัย
ขอบคุณ: ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ 1719