หลังจากเปิดใช้งานอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน เมื่อวันที่ 5 พ.ย.61 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดไปขัดลงไปได้มาก ทางด้านนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม เร่งศึกษาพื้นที่สี่แยกในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ประสบปัญหาการจราจร โดยนำโมเดลสี่แยกรัชโยธินเป็นต้นแบบ ให้ศึกษาเสร็จใน 3 เดือน เพื่อให้ทราบว่าถนนสายไหนควรจะเร่งสร้างสะพานข้ามหรือทางลอด จากนั้นเดือนต่อไปมาดูงบประมาณ เพื่อขอจัดสรรในปี 2563
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า พื้นที่สี่แยกในกรุงเทพฯที่ประสบปัญหาการจราจร เมื่อ 10 ปีที่แล้วเคยศึกษาไว้ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีทั้งหมด 500 ทางแยก เป็นทางแยกที่เป็นจุดวิกฤตและไม่มีการทำอุโมงค์หรือสะพานข้ามแยกประมาณ 50 ทางแยก เดือนนี้ สนข. จะทบทวนผลการศึกษาที่เคยทำไว้ และประสานงานไปยังกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ที่มีโครงการจะก่อสร้างอยู่แล้ว เพื่อเรียงลำดับความสำคัญของโครงการ
ข้อมูลเบื้องต้นมี 34 โครงการ
- กรมทางหลวง 16 โครงการ มี 3 โครงการ จะสร้างปี 2560-2562 ได้แก่ 1.สะพานลอยข้ามแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 304 กม.12 2.สะพานเข้าอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมือง และ 3.สะพานลอยกลับรถโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ อีก 13 โครงการสร้างปี 2562-2569 อาทิ ต่างระดับลำลูกกา ต่างระดับนพวงศ์ อุโมงค์ลอดแยกสามัคคี อุโมงค์ลอดแยกแคราย ทางยกระดับศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ
- กรมทางหลวงชนบท มี 1 โครงการ จะสร้างทางต่างระดับจุดตัดถนนสาย ปท.4001 กับ ทล.352 คลองหลวง จ.ปทุมธานี ปี 2562-2566
- กทม. มี 17 โครงการ จะสร้างปี 2560-2562 จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ 1.สะพานลอยข้ามทางแยกถนนกรุงเทพกรีฑา-ร่มเกล้า-เจ้าคุณทหาร 2.ทางลอดใต้ทางแยกถนนจรัญสนิทวงศ์-พรานนก (แยกไฟฉาย) 3.ทางลอดถนนพัฒนาการ-รามคำแหง-ถาวรธวัช 4.สะพานข้ามแยก ณ ระนอง 5.ทางลอดรัชดาฯ-ราชพฤกษ์ 6.ทางลอดถนนศรีอยุธยา-พระราม 6 และ 7.ทางลอดถนนรามคำแหง ที่ยังไม่ระบุปีสร้าง อาทิ ทางยกระดับถนนรัชดาภิเษก-ถนนอโศกดินแดง-อโศกมนตรี สะพานข้ามแยกถนนเพชรเกษม
อีกทั้งจะทบทวนแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่ง หากโครงการไหนที่ยังเดินหน้าไม่ได้ เช่น ติดเวนคืนที่ดิน จะปรับรูปแบบสร้างเป็นทางลอดแม่น้ำแทน เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีในปัจจุบัน รับปริมาณรถไม่พอและเริ่มมีสภาพเก่า ล่าสุด โมเดลทางด่วนลอดแม่น้ำเจ้าพระยา (จากแยกบางนา-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์) ระยะทาง 9 กม. ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เพื่อนำเสนอกระทรวงพิจารณาแล้ว
อย่างไรก็ตามเห็นจากรายการข้างต้นแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า หากไม่มีการวางแผนบริหารจัดการและการเรียงลำดับที่ดี แล้วสร้างพร้อมๆกันหลายโครงการเพราะมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน กว่าจะสร้างเสร็จคงเกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมากคล้ายกับปัจจุบันอย่างแน่นอน แต่ถึงกระนั้นก็ต้องอดทน ถ้าไม่สร้างวันนี้ วันหน้าก็อย่ามาบ่นว่าทำไมไม่สร้างเสียที