วันนี้ (25 เมษายน 2562) นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด (Max. Demand) ในพื้นที่ กฟน. ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ทำลายสถิติใหม่ โดยสูงถึง 9,412.56 MW เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 เวลา 14.00-14.30 น. ที่ผ่านมา
กฟน. จึงมีความห่วงใยประชาชนให้ระวังอันตรายและความเจ็บป่วยไม่สบายจากสภาพอากาศร้อน โดยควรดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ ควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร ที่สำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านหรือออกกำลังกายกลางแดดเพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคลมร้อนอันตรายถึงชีวิต หากจำเป็นควรหาอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด และดื่มน้ำสะอาดเป็นระยะเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง เพื่อป้องกันการเป็นลมแดด
นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนัก เป็นเหตุให้ค่าไฟมากขึ้นตามมาด้วย วิธีการที่จะช่วยให้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัย นอกจากการหมั่นดูแล บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ พร้อมใช้งานและปลอดภัยอยู่เสมอแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ยิ่งขึ้น โดยยึดหลัก “ปิด - ปรับ - ปลด - เปลี่ยน” โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยๆ พกกระติกน้ำแข็งไว้ดื่ม ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ใช้หลอดไฟ LED แทนการใช้หลอดแบบไส้ เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) และควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ใช้งาน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลด้านการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ได้ที่ช่องทางสื่อสารโซเชียล กฟน. ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง (MEA) Line@ : mea@news Twitter : @mea_news เว็บไซต์ : www.mea.or.th หรือติดต่อได้ที่ MEA Call Center 1130 ตลอด 24 ชั่วโมง ดาวน์โหลดฟรีคลิก