หลังจากที่ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กรมทางหลวงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการ ในรูปแบบ PPP Gross Cost เกี่ยวกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M81) ไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งกรมทางหลวงได้มีการประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนไปเมื่อเดือน ก.พ. 62 ปัจจุบันเกิดปัญหาเรื่องเวนคืนที่ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในงานก่อสร้าง คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และเปิดให้ใช้บริการได้จากเดิมปี 2563 เป็นปี 2566 แทน
ปัญหาเรื่องเวนคืนที่ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ได้มีการลงนามเรื่องการขอวงเงินค่าเวนคืนที่ดินโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพิ่มเติมอีก 7,000 ล้านบาท และส่งเรื่องไปรอบรรจุเป็นวาระในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อย คาดว่าอีกไม่นานจะสามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ โดย ณ ขณะนี้ (ปี 2562) มีเอกชนซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (ก่อสร้างงานระบบ การดำเนินและบำรุงรักษา) ทั้งสิ้น 18 ราย ซึ่งจะได้ข้อสรุปสำหรับเอกชนที่สามารถดำเนินการพร้อมเสนอ ครม. ภายในสิ้นปี 62 นี้ ส่วนเรื่องการก่อสร้างของโครงการฯ มีความคืบหน้าโดยรวม ร้อยละ 20
โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการบรรจุให้อยู่ในมาตรการเร่งรัดการลงทุน Action Plan และมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เหตุที่ได้รับการบรรจุเป็นเพราะต้องการให้โครงการฯ เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความสะดวก รวดเร็วเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานระบบ และจัดเก็บรายได้ทั้งหมดส่งต่อให้รัฐ โดยเอกชนจะได้รับค่าจ้าง/ค่าตอบแทนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมทั้งจ่ายคืนค่าก่อสร้างงานระบบตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด สำหรับการก่อสร้างงานโยธา กรมทางหลวงจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ในส่วนของรูปแบบการก่อสร้างโครงการฯ จะมีช่องทางการเดินรถ 4-6 ช่องทางจราจร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 บางใหญ่-นครปฐม ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษบนดินมีช่องทางการเดินรถ 6 ช่องจราจร และช่วงที่ 2 นครปฐม - กาญจนบุรี ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษบนดินมีช่องทางการเดินรถ 4 ช่องจราจร นอกจากนี้ยังได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่จึงได้ออกแบบให้มีทางลอด และทางข้าม ในส่วนช่วงต้นโครงการฯ ที่มีหมู่บ้านจัดสรรหนาแน่น ก็ได้ออกแบบเป็นสะพานยกระดับยาวต่อเนื่องไปจนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางบางใหญ่
ช่วงที่ 1 บางใหญ่-นครปฐม ทางหลวงพิเศษบนดินช่องทางเดินรถ 6 ช่องจราจร
ช่วงที่ 2 นครปฐม - กาญจนบุรี ทางหลวงพิเศษบนดินช่องทางการเดินรถ 4 ช่องจราจร
เส้นทางการเดินรถของโครงการฯ นี้ มีระยะทางทั้งหมด 96 กม. เริ่มต้นที่จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตกกับถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี และสิ้นสุดโครงการโดยจะบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี-อ.พนมทวน) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งตลอดแนวเส้นทางจะมีทางแยกต่างระดับ (ด่านเก็บค่าผ่านทาง) เพื่อเชื่อมต่อกับทางหลวงสายสําคัญๆ 8 แห่ง ได้แก่
- ทางแยกต่างระดับบางใหญ่ เชื่อมต่อกับทางพิเศษหมายเลข 9 และถนนรัตนาธิเบศร์ (ด่านบางใหญ่)
- ทางแยกต่างระดับนครชัยศรี (ด่านนครชัยศรี)
- ทางแยกชุมทางต่างระดับนครชัยศรี (ด่านชุมทางนครชัยศรี)
- ทางแยกต่างระดับนครปฐมฝั่งตะวันออก (ด่านนครปฐมฝั่งตะวันออก)
- ทางแยกต่างระดับนครปฐมฝั่งตะวันตก (ด่านนครปฐมฝั่งตะวันตก)
- ทางแยกต่างระดับท่ามะกา (ด่านท่ามะกา)
- ทางแยกต่างระดับท่าม่วง (ด่านท่าม่วง)
- ทางแยกต่างระดับกาญจนบุรี (ด่านกาญจนบุรี)
ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดเก็บค่าผ่านทางยังอยู่ในการพิจารณาว่าจะขึ้นฟรี หรือเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งหากมีการเก็บค่าผ่านทาง กรมทางหลวงได้กำหนดอัตราไว้ โดยให้รถยนต์ 4 ล้อ เริ่มต้นในราคา 10 บาท (คิดตามระยะทาง 1.50 บาท/กม.) รถยนต์ 6 ล้อ เริ่มต้นในราคา 16 บาท (คิดตามระยะทาง 2.40 บาท/กม.) และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อ เริ่มต้นในราคา 23 บาท (คิดตามระยะทาง 3.45 บาท/กม.)
Cr. กรมทางหลวง