“อากาศร้อน” เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตไม่เพียงแต่คนเท่านั้น สัตว์ 4 ขา อย่าง สุนัขเองก็เช่นกัน ซึ่งนั่นอาจนำไปสู่อาการป่วยโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ได้ ด้วยความห่วงใยจาก รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ในสุนัข พร้อมแนะนำการวัดอุณหภูมิและลดความร้อน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าของ และสามารถช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งสัตวแพทย์ ไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย
สาเหตุที่ทำให้สุนัขมีอาการตัวร้อน
ต้องบอกก่อนว่าโรคลมแดด หรือ Heat Stroke เกิดจากการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาฯ อย่างรวดเร็ว และระบายความร้อนออกสู่ภายนอกไม่ทัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สุนัขมีอาการตัวร้อน ได้แก่
1. เป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดไข้สูง
2. การทิ้งสุนัขไว้ในรถ หรือที่ที่มีอากาศร้อนจัดนานๆ
วิธีตรวจสอบว่าสุนัขมีอาการตัวร้อน
อย่างถ้าเป็นคนเราก็จะใช้วิธีการแตะหน้าผาก แต่หากเป็นสุนัขให้เราตรวจสอบได้ที่บริเวณขาหนีบเนื่องจากมีขนน้อยที่สุดและเป็นแหล่งรวมเลือดไหลเวียน โดยใช้หลังมือมาแตะบริเวณขาหนีบ (เหมือนเราแตะหน้าผาก) ซึ่งอุณหภูมิปกติของสุนัขจะอยู่ที่ประมาณ 37 – 38 องศาฯ
อาการเบื้องต้น “โรคลมแดดในสุนัข”
สำหรับอาการเบื้องต้นของโรคลมแดดในสุนัข (Heat Stroke) ได้แก่ หอบ หายใจเร็ว ลิ้นแดงสด น้ำลายหนืดเหนียว อ่อนแรง ม่านตาขยาย ช็อก เป็นลมหมดสติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสุนัขจะมีการระบายความร้อนออกจากตัวด้วยการหายใจหรือหอบออกมา ดังนั้น ให้เราสังเกตว่าหากสุนัขหอบมากกว่าปกติอาจเป็นไปได้ว่าในร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไปแล้ว
การวัดอุณภูมิและลดความร้อนให้กับเจ้าสุนัข
การวัดไข้หรือวัดอุณหภูมิในร่างกายสุนัขเพื่อตรวจสอบว่ามีอาการของโรคลดแดดหรือไม่ ให้ใช้เป็นปรอทวัดไข้สุนัขโดยเฉพาะ ซึ่งจะมาในรูปแบบปลายกลมเล็ก และต้องวัดทางทวารหนักเท่านั้น วิธีการวัดอุณหภูมิด้วยปรอท
1. นำปรอทจุ่มน้ำ เพื่อให้เกิดความลื่นสอดเข้าได้ง่าย
2.สอดปรอทเข้าไปทางทวารหนัก และจับปรอทแนบไปกับแนวหาง
3. สอดค้างไว้ 30-60 วินาที จากนั้นนำออกมาอ่านค่า แต่หากก่อนหน้านำไปวิ่งตากแดดหรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนอุณหภูมิก็อาจจะขึ้นได้ จึงควรดูสถานการณ์ ณ ขณะนั้นก่อนด้วย
ทั้งนี้ หากเราตรวจสอบแล้วว่าสุนัขมีอาการของโรคลมแดดจริง ให้เรารีบนำเข้ามาอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท จากนั้นก็ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยนำน้ำเย็นใส่ขวด หรือน้ำแข็งใส่ถุงมาประคบบริเวณที่บริเวณ ขาหนีบ หรือใต้รักแร้ รวมถึงบนหัวสักพัก ก่อนจะรีบพาไปพบสัตวแพทย์ใกล้บ้านเพื่อทำการรักษาต่อไป
ข้อมูล : Mahidol Channel