กาฬสินธุ์เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยมีความเจริญทางด้านอารยธรรมอันเก่าแก่ และยังมีการขุดค้นพบซากไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียง มีพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์แบบและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในอาเซียน จัดแสดงการกำเนิดโลก จักรวาลและสิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตและยุคของไดโนเสาร์จนถึงการกำเนิดมนุษย์ ห้องปฏิบัติการวิจัยและศึกษาฟอสซิลไดโนเสาร์ที่สามารถชมการทำงานของนักวิจัยได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีหลุดขุดค้นจริงที่สามารถชมซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่” ไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลกที่ค้นพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ซึ่งมีสภาพสมบูรณ์เกือบทั้งตัว
มีสถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่งดงาม ได้แก่ “พระพุทธไสยาสน์” เก่าแก่ ลักษณะตะแคงซ้าย ไม่มีเกตุมาลา, “อุโบสถไม้” สร้างจากไม้ใต้เขื่อนลำปาว แกะสลักลวดลายงดงามเป็นภาพสามมิติ และภาพนูนต่ำ, “วิหารสังฆนิมิต” ที่เก็บพระพุทธรูปและพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ ที่หายาก, “พระมหาธาตุเจดีย์พุทธนิมิต” เจดีย์ยอดทองคำหนัก 30 กิโลกรัม ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา เนปาลและพม่า
เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมในรูปแบบศิลปะล้านช้างให้ได้ชมอย่างหลากหลาย ทั้ง สิมไทเมืองวัง อุโบสถรูปทรงศิลปะล้านช้างที่มีความอ่อนช้อยงดงาม, พระธาตุเจ้ากู และศาลาการเปรียญซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “หลวงปู่วังคำ” พระประธานศิลปะล้านช้างที่งดงาม พร้อมทั้งธรรมมาสน์ซึ่งสร้างตามแบบดั้งเดิมตามที่เจ้าอาวาสผู้สร้างเคยเห็นเมื่อครั้งเป็นเด็ก
แหล่งเรียนรู้วิถีประเพณีของชนเผ่าผู้ไทย เช่น การประกอบพิธีหมอเหยา (การรักษาโรคโดยใช้พิธีกรรมตามความเชื่อ) งานหัตถกรรมเสื้อผู้ไทยเย็บมือ งานจักสานไม้ไผ่ การเย็บขันหมากเบ็ง การแสดงดนตรีและวัฒนธรรมผู้ไทย เป็นต้น
เจดีย์โบราณทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ปรากฏการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกัน คือ ส่วนฐานสร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิมเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ