จังหวัดมหาสารคามเป็นจังหวัดที่สงบเงียบและเรียบง่ายตามแบบฉบับของเมืองอีสาน ปัจจุบันมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาแห่งหนึ่งของภูมิภาค เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากมาย จึงได้ชื่อว่าเป็น “ตักศิลาแห่งอีสาน”
ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวขวาง ริมฝั่งแม่น้ำชี วนอุทยานโกสัมพี ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 ลักษณะเป็นสวนป่ามีต้นไม้หลายชนิด เช่น ต้นยางขนาดใหญ่ ต้นตะแบก ต้นกระทุ่ม ฯลฯ แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมติดต่อกัน มีหนองน้ำธรรมชาติ ทัศนียภาพร่มรื่น เป็นที่อาศัยของนกต่าง ๆ และลิงแสมฝูงใหญ่จำนวนหลายร้อยตัว รวมทั้งลิงแสมสีทองซึ่งเป็นพันธุ์หายาก
สถานที่น่าสนใจในวนอุทยาน
แก่งตาด เป็นหินดินดานที่มีบริเวณกว้างอยู่ในลำน้ำชี ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของวนอุทยานโกสัมพี ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม น้ำตื้นมองเห็นหินดินดาน ที่มีน้ำไหลกระทบเป็นฟองคลื่นขาวสะอาดตาและบริเวณที่ติดต่อกับริมฝั่งลำน้ำชีก็มีทัศนียภาพที่สวยงามเช่นกัน
ลานข่อย เป็นลานต้นข่อยที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ ตกแต่งเป็นไม้แคระรูปต่าง ๆ มากกว่า 200 ต้น
ลิงแสม เป็นสัตว์ประจำถิ่นของป่าแห่งนี้มี 2 พันธุ์ คือ ลิงแสมสีเทาและลิงแสมสีทอง
พระพุทธมิ่งเมืองหรือพระพุทธรูปสุวรรมาลี สร้างด้วยหินทรายแดง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยทวาราวดีที่ชาวมหาสารคามนับถือกัน มาประดิษฐานที่วัดสุวรรณาวาส ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวมหาสารคามนิยมมากราบไหว้ขอพร
พระพุทธรูปยืนมงคล เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีสร้างขึ้นด้วยหินทรายแดง เหมือนพระพุทธรูปมิ่งเมือง พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้สร้างขึ้นในเวลาเดียวกันคือ เมื่ออำเภอกันทรวิชัยฝนแล้ง ผู้ชายสร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง ผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนมงคล เสร็จพร้อมกันแล้วทำการฉลองยางมโหฬาร ปรากฏว่าตั้งแต่ได้สร้างพระพุทธรูปทั้งสองค์แล้วฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พระพุทธรูปยืนมงคลตั้งอยู่ที่ตำบลคันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
ปูชนียสถานที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสาน จึงได้ชื่อว่า "พุทธมณฑลแห่งอีสาน" ตั้งอยู่ที่บ้านนาดูน เขตอำเภอนาดูน เป็นเขตที่มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เพราะบริเวณนี้ได้เคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน โบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบได้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่นและที่สำคัญยิ่งก็คือการขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 สมัยทวาราวดี รัฐบาลจึงอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นในเนื้อที่ 902 ไร่ โดยบริเวณรอบๆ จะมีพิพิธภัณฑ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม สวนรุกขชาติ สวนสมุนไพร