+++ เรื่องการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ7 เป็นร้อยละ10 รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้ ฝ่ายราชการได้เสนอให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาเรื่องต่ออายุลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อยู่ที่ร้อยละ 7 ออกไปอีก 1 ปี ที่จะสิ้นสุด 30 ก.ย.2557 เป็นสิ้นสุด 30 ก.ย. 2558 แล้ว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้คงต้องนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อนนำเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้เชื่อว่าการต่ออายุแวตร้อยละ 7 ออกไปอีก 1 ปีไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเสนอต่ออายุทุก 2 ปีแต่ครั้งนี้เห็นว่าเป็นรัฐบาลรักษาการจึงน่าจะเสนอต่ออายุแค่ 1 ปี เพื่อไม่ให้มีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดใหม่และก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์เคยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ศึกษาว่าแวตในประเทศไทยควรจะอยู่เท่าใด รวมทั้งการศึกษาคงแวต ร้อยละ 7 ต่อไป หรือจะให้ปรับขึ้นตามเพดานคือ ร้อยละ10 เพื่อที่จะได้เสนอปรับแก้กฎหมายให้เป็นการถาวรจะได้ไม่ต้องคอยต่ออายุทุก 2 ปี ซึ่ง สศค.กำลังเร่งสรุปผลการศึกษาเพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลชุดใหม่ อย่างไรก็ตามแวตร้อยละ 10เคยปรับ ขึ้นเมื่อช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 โดยเป็นเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ไทยยืมเงินมาแต่ต่อมาในปี 2542 ได้ปรับลดอัตราเหลือร้อยละ 7 จนถึงปัจจุบันโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปรับลดอัตราภาษี ด้านนายกิตติรัตน์ ยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นแวตเป็นร้อยละ10 จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่อัตราร้อยละ 7 ตามที่มีกระแสข่าวออกมา เพราะไม่ต้องการผลักภาระให้ประชาชน รวมทั้งการที่จะดำเนินการอะไรในช่วงนี้จะต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ จึงต้องขออนุมัติ และผ่านความเห็นชอบจาก กกต.ก่อนจึงจะดำเนินการได้
+++ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย มีรายงานว่า เดือน มิ.ย. กระทรวงการคลัง จะปรับเป้าหมายตัวเลขการส่งออกในปี 2557 ลง จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5 เพราะเริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวในภาคการส่งออกที่ต่ำกว่าเป้าหมายโดยเฉพาะช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 ตัวเลขการส่งออกของไทยติดลบอย่างต่อเนื่องรวมทั้งอยู่ระหว่างการติดตามตัวเลขการส่งออก ช่วงเดือน มี.ค. 2557 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลัก อย่าง ประเทศจีน ที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัวลง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบที่มีผลต่อภาคการส่งออกของไทย ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐในหลายภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้โดยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมีเพียง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง อัญมณี และอื่น ๆ ยังเติบโตได้ในระดับต่ำ ขณะนี้กระทรวงการคลังได้จับตาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย โดยไทยได้ส่งออกสินค้าไปยังจีนเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงอาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2557 ที่คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.6 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งอาจปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ยอมรับว่าปีนี้รัฐบาลคาดหวังให้ภาคการส่งออกเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่จากสถานการณ์ทั้งหมดแล้วอาจไม่เป็นไปตามคาดการณ์โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์และหามาตรการรองรับต่อไป
+++ด้านภาคเอกชน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์ฯมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในนี้ ใหม่จากเดิมขยายตัวร้อยละ 2.5 เป็นเหลือในระดับร้อยละ 0-2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการ และความเชื่อมั่นการบริโภคของประชาชนต้องชะลอตัวตาม ดังนั้นหากสถานการณ์ของประเทศยังอยู่ในลักษณะนี้ต่อไป จึงเป็นห่วงว่า การว่างงานของไทยจะเพิ่มอีก 2แสนคน จากปัจจุบันที่มีการว่างงานอยู่แล้ว 4 แสนคน รวมเป็น 6แสนคน เดิมในไตรมาสแรกปีนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจจะติดลบร้อยละ 1 แต่ตอนนี้อาจเพิ่มเป็นติดลบร้อยละ 1 ถึง ร้อยละ1.5
+++นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จับตาความเห็นธปท.ว่าเศรษฐกิจไทยแย่จริงหรือไม่
+++สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จัดเสวนาหัวข้อ รับมือเศรษฐกิจไทย 2557 ผู้บริหารแต่ละอุตสาหกรรมคิดอย่างไร โดย นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย น.ส.เพ็ญจันทร์ จริเกษมรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มการเงินและการบัญชี บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม นางกมลวรรณ วิปุลากรกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เป็นต้น
+++นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า 4 ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยได้แก่ ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และ สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย มีมติร่วมกันที่จะนำชาวไร่อ้อยทั่วประเทศประมาณ 6 หมื่นคนมารวมตัวกันที่ กระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงเย็นของวันที่ 27 เม.ย.เพื่อกดดันให้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งกำหนดการพิจารณาแนวทางการเพิ่มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี56/57 ที่กำหนดไว้ 900บาทต่อตันนั้นไม่คุ้มทุนการผลิต ต้องการอย่างน้อย 1,100-1,200บาทต่อตัน ส่วนการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เลื่อนจากวันนี้ไปเป็นวันอังคารหน้า
+++เรื่องของอากาศ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันพุธ ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้ เวลา 14.00-14.30 น. อยู่ที่ 8,668.98 เมกะวัตต์ซึ่งสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2556 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2556 เวลา 13.30-14.00 น. ที่มีการใช้พลังงาน ไฟฟ้าอยู่ที่ 8,589.96 เมกะวัตต์ ด้านการประปานครหลวง (กปน.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 22-23 เม.ย.กปน.ได้จ่ายน้ำให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการเป็นจำนวนวันละ 5.3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือเป็นปริมาณการจ่ายน้ำสูงสุดของปีนี้ โดยก่อนหน้านี้ช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนมีการจ่ายน้ำเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 5.1 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่งเพิ่มเป็น 5.2 ล้าน ลบ.ม. และพุ่งขึ้นถึงวันละ 5.3 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ กำลังการผลิตน้ำสูงสุดอยู่ที่ 5.9 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน