หลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ครั้งที่ 9/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธาน ซึ่งพิจารณายกระดับมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีความรุนแรง พ.ญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. แถลงผลการประชุมโดยมติขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 2 เดือน เริ่ม 1 ส.ค. ถึง 30 ก.ย. 64 ซึ่งจะ นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 13 กรกฎาคมนี้
นอกจากนั้น ยังมีการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ในพื้นที่ 10 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา มีผลบังคับใช้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 64 นี้ แบ่งเป็น
1.การจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะพื้นที่ที่หลายท่านคุ้นเคยกับคำว่า ล็อกดาวน์ จะประกาศใช้ในพื้นที่สีแดงเข้มเพียง 6 จังหวัด คือกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี นครปฐม
-ระบบขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการตั้งแต่เวลา 21:00 น. ถึง 04:00 น. ของวันรุ่งขึ้น
-ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่งปิดเวลา 20:00 น. ถึง 04:00 น. ของวันรุ่งขึ้น
-ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าคอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านค้าและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีนทั้งนี้เปิดได้ถึงเวลา 20:00 น.
-ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้านโดยเปิดได้ถึงเวลา 20:00 น.(ซื้อกลับบ้านเท่านั้น)
-ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
-สวนสาธารณะสามารถเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20:00 น.
-สถานศึกษาในพื้นที่สีแดงเข้ม ให้เรียนออนไลน์เท่านั้น
-ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ส่วนมาตรการที่ครอบคลุมใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม คือ (โดยเพิ่ม สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส)
2.ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็นและห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21:00 น. ถึง 04:00 น. ของวันรุ่งขึ้นเว้นแต่มีความจำเป็นยิ่งหรือได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี
3.การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของศบค.ที่ได้มีการประกาศไปก่อนแล้วหน้านี้
4.กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างสูงสุด
5.ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ 1-4 ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.เป็นต้นไปและให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์ต่างๆข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24,25 ,26 ) มาบังคับใช้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
6.ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และชุดลาดตระเวนเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวดโดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.เวลา 06:00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้กรณีตรวจสอบพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตามแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อพ.ศ. 2558