ปลัดสธ.ย้ำตามติด'โอไมครอน'โควิด-19 ฉีดวัคซีนเข็ม1 กว่า 72%

30 พฤศจิกายน 2564, 17:11น.


          การเตรียมพร้อมรับมือโควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน” และวัคซีนโควิด-19 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้เรามีมาตรการเตรียมพร้อมหลายอย่าง อย่างทั้งการห้าม 8 ประเทศในกลุ่มแอฟริกาเข้าไทย ทั้งบอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ยกเว้นคนไทยที่เดินทางกลับมา แต่ต้องเข้าสู่ระบบกักตัว 14 วัน นอกจากนี้ คนที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังคงให้ตรวจหาเชื้อ RT-PCR โดยขอขยายเวลาไปถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 จากเดิมจะให้ตรวจด้วย ATK ส่วนวัคซีนป้องกันโควิดยังได้ผลอยู่เช่นเดิม ส่วนทางบก ตามด่านต่างๆ ก็ต้องเข้มเช่นกัน อย่างที่จะมีการเปิดด่านหนองคายเพิ่มช่วงหลังวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ก็ยังมีเวลา แต่เรื่องนี้ก็ต้องติดตามต่อเนื่องว่า เชื้อโอไมครอนเป็นอย่างไรต่อไป



          ส่วนอาการของโควิดโอไมครอน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ยังไม่ชัดเจน แต่เบื้องต้นอาการไม่ได้รุนแรง ลักษณะการเกิดโรคก็คล้ายๆไข้หวัด ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ 2-3 วันจะดีขึ้น แต่เราก็ต้องติดตามต่อไป การคงมาตรการป้องกันตัวเอง ทั้งสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ยังป้องกันได้ดีที่สุด ควบคู่กับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งขณะนี้เรากำลังเดินหน้าฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนในกลุ่มคนไทยแล้วจำนวนมาก เป็นเข็ม 1 กว่า 72%  ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้ได้ถึง 75% คาดว่าในสิ้นปีนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเข็ม 2 ฉีดครอบคลุม มากกว่า 60% ดังนั้น ขอความร่วมมือประชาชนทุกฝ่ายมาฉีดวัคซีน ซึ่งเรามีวัคซีนมากพอ วัคซีนภาครัฐมีราว ๆ 140 ล้านโดส วัคซีนทางเลือกประมาณ 20-30 ล้านโดส



          ด้านกลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีนก็มีประมาณ 3 ประเภทบวกกับ 1 คือ



1.กลุ่มลังเล กลัวผลข้างเคียง เราก็ต้องให้ข้อมูลให้ข้อเท็จจริง ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจเรื่องนี้แล้ว



2. กลุ่มรอวัคซีนที่จองไว้ และ



3.กลุ่มที่อยู่ห่างไกล เดินทางลำบาก ทางพื้นที่ค้นหาและเดินทางไปถึงบ้านฉีดวัคซีนให้ถึงบ้าน



          ส่วนกลุ่มบวกอีกหนึ่งกลุ่มนี้คือ ไม่ฉีดวัคซีนเลยด้วยปัจจัยความเชื่อใดๆ ก็ตาม ซึ่งตรงนี้เราก็เน้นให้ข้อมูล ทำความเข้าใจมากที่สุด



          สำหรับจังหวัดที่ฉีดวัคซีนโควิดส่วนใหญ่ฉีดมากกว่า 50% แล้ว มีเพียงจ.แม่ฮ่องสอน ที่ฉีดไปประมาณ 45.24% โดยจังหวัดที่ฉีดไปแล้ว 70% มี 22 จังหวัด



          สำหรับสถานการณ์เตียงปัจจุบันมีประมาณ 2 แสนเตียง ใช้ไปประมาณ 30% ตอนนี้ยังมีพอเหลือ ยามีฟาวิพิราเวียร์ อย่างน้อย 45 วันๆละ 5 แสนเม็ด และสั่งเพิ่มจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรมมีวัตถุดิบสำหรับผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ประมาณ 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ เรายังมีการทำสัญญาสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 50,000 คอร์ส จะเข้ามาในเดือน ม.ค.2565



 #โควิด19



#โอไมครอน



แฟ้มภาพ

ข่าวทั้งหมด

X