องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ เปิดเผยรายงาน “การป้องกันทศวรรษที่สูญหาย: การดำเนินการเร่งด่วนเพื่อย้อนกลับผลกระทบร้ายแรงของ COVID-19 ที่มีต่อเด็กและคนหนุ่มสาว” (Preventing a lost decade: Urgent action to reverse the devastating impact of COVID-19 on children and young people) ระบุว่า โควิด-19 คือปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของการทำงานที่สะสมมาหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นด้านความยากจน สุขภาพ การเข้าถึงการศึกษา โภชนาการ การคุ้มครองเด็ก และสุขภาพจิตของเด็ก
นางเฮนเรียตต้า โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า โควิด-19 เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของยูนิเซฟ ทำให้การทำงานต่างๆ ต้องถอยหลัง ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีเด็กที่อยู่ในความยากจนหลายมิติเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2562 นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 ทุกวินาทีมีเด็ก 1.8 คนต้องเข้าสู่ภาวะความยากจน ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาพเดิม แม้ในกรณีที่ดีที่สุด อาจจะต้องใช้เวลาถึง 7 - 8 ปีที่จะลดอัตราความยากจนให้กลับสู่สภาพเดิมก่อนการแพร่ระบาด
ตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาด เด็ก ๆ ในประเทศไทยก็เผชิญกับความท้าทายหลายด้าน รายงานสถานการณ์เด็กและสตรีปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า มีเด็กที่กำลังเรียนชั้นป. 2 และ ป. 3 ร้อยละ 43 ที่ขาดทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน และเกือบครึ่งขาดทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน ในขณะที่อัตราเด็กวัยมัธยมปลายที่ไม่เข้าเรียนสูงถึงร้อยละ 18
นางคยองซัน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 สามารถส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในระยะยาว และบั่นทอนความก้าวหน้าของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ประเทศไทยได้สะสมมาหลายทศวรรษ การป้องกันก็คือ เด็กจะต้องเป็นศูนย์กลางของการฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19 ต้องมีการเสริมสร้างระบบสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคมให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างหลักประกันสำหรับอนาคตของเด็กทุกคนและป้องกันวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ เราต้องสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และให้พวกเขามีส่วนร่วมในการออกแบบและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่กระทบต่อพวกเขา
...
#ยูนิเซฟ
#โควิด19