มาตรการควบคุม และป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของสถานประกอบกิจการ การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร หรือ หมู ล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมและป้องกันเหตุรำคาญหรือผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสถานประกอบกิจการ การเพาะพันธุ์ เลี้ยง และการอนุบาลสุกร พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ลงนามโดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน
ในเนื้อหาโดยสรุป เน้นการดูแล เพาะพันธุ์ หมูให้อยู่ห่างจากชุมชน เพื่อเลี่ยงมลพิษ ของเสีย สารเคมี และวัตถุอันตราย โดยกำหนดสถานที่เพาะเลี้ยงตามจำนวนหมูให้อยู่ห่างจากจากศาสนสถาน โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานเลี้ยงเด็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยพักฟื้น หรือผู้พิการ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ตั้งแต่ 50 เมตร – 1 กิโลเมตร
ส่วนสุขลักษณะของโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ ต้องเป็นอาคารที่มีความมั่นคง แข็งแรง อยู่ในสภาพดี ปลอดภัย การระบายอากาศที่ดี อากาศถ่ายเทสะดวก และระบบระบายน้ำเพื่อรวบรวมน้ำเสียไปบำบัดด้วยวิธีการ ที่เหมาะสม รวมทั้งต้องบำรุงรักษา ทำความสะอาดโรงเรือน ระบบระบายอากาศ และระบบระบายน้ำ อย่างสม่ำเสมอ
มีความลาดเอียงเพื่อให้น้ำไหลลงทางระบายได้สะดวก ดูแล รักษาพื้นโรงเรือนให้แห้งและสะอาด ในกรณีที่เป็นพื้นคอนกรีต หรือพื้นลักษณะอื่นใดในทำนองเดียวกัน ต้องเก็บกวาดมูลสุกรและเศษสิ่งตกค้างจากพื้นคอกทุกวัน และล้างทำความสะอาดสม่ำเสมอ นอกจากนั้น โรงเรือนที่มีส้วมน้ำ ต้องกำจัดสิ่งขับถ่ายจากสุกรและล้างทำความสะอาดทุกวัน
เมื่อสิ้นสุดการเลี้ยงสุกรในแต่ละรุ่น ให้ทำความสะอาดคอกเพื่อชะล้างมูลสุกรและ สิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ตามซอกพื้น เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน และมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์ ที่เป็นพาหะนำโรค ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือน และอุปกรณ์ก่อนนำสุกรรุ่นใหม่เข้ามาเลี้ยง
การจัดการซากสุกรต้องใช้วิธีที่ถูกสุขลักษณะ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค และไม่เกิดปัญหามลพิษต่อชุมชนและ สิ่งแวดล้อม ดังต่อไปนี้
1) วิธีการฝัง ต้องมีพื้นที่เพียงพอ อยู่ในบริเวณน้ำท่วมไม่ถึง และห่างจากแหล่งน้ำ ให้ฝังไว้ใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตร โรยปูนขาวหรือราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อแล้วกลบหลุม และคลุมดินให้แน่น เหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ไปคุ้ยเขี่ย
2) วิธีการเผา ให้ทำในบริเวณที่เหมาะสมและเผาซากจนหมด ตามประกาศกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3) วิธีการทิ้งในบ่อทิ้งซากของสถานประกอบกิจการ ต้องถูกสุขลักษณะ โดยต้อง กำจัดซากสุกรในบ่อที่ปิดมิดชิด และมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันกลิ่น แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะ นำโรคได้
4) วิธีการอื่นใดให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ราชการกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(ง) กรณีสุกรป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ สุกรเป็นโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัย ว่าเป็นโรคระบาด ต้องมีการจัดการซากสุกรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์และกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง
(2) การจัดการมลพิษ
(ก) ทำความสะอาดตัวสุกร คอกสุกร และรางให้อาหาร มิให้เกิดการสะสมของ น้ำปัสสาวะ มูลสุกร และเศษอาหาร เพื่อลดปัญหากลิ่นรบกวน
(ข) จัดให้มีและบำรุงรักษาท่อ รางระบายน้ำเสีย หรือน้ำทิ้งให้อยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ สะอาด ปราศจากน้ำขังและการสะสมของมูลสุกรหรือกากตะกอน เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวนและการเป็น แหล่งเพาะพันธุ์แมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค
(ค) การบำบัด หรือการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียจากการประกอบกิจการ ให้ดำเนินการ โดยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอ สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียและบำบัดน้ำเสียที่เกิดขึ้นได้ ก่อนระบายสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่ภายนอก หรือนำกลับมาใช้ประโยชน์ภายในสถานประกอบกิจการ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีสถานประกอบกิจการไม่เข้าข่ายบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ดำเนินกิจการต้องมีมาตรการจัดการน้ำเสียเบื้องต้น เช่น บ่อเกรอะ บ่อซึม ที่มีขนาดเหมาะสมและเพียงพอต่อปริมาณความสกปรกที่เกิดขึ้น ก่อนระบายสู่ภายนอก
(ง) การจัดการกากตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากการจัดการน้ำเสียต้องรวบรวมและกำจัด หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือก่อเหตุเดือดร้อน รำคาญแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในในบริเวณใกล้เคียง
(จ) มาตรการลดกลิ่นอันเกิดจากการประกอบกิจการด้วยวิธีที่เหมาะสม ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน ค่ามาตรฐานความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากสถานประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วย การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(ฉ) มาตรการควบคุมระดับเสียงในสถานประกอบกิจการต้องดำเนินการมิให้มีระดับเสียง เกินกว่าที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด
อ่านประกาศฉบับเต็ม: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/008/T_0017.PDF
#เลี้ยงหมูให้ปลอดภัย
#หมูสะอาด