กองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ WWF รายงานการพบสิ่งมีชีวิตใหม่ 224 สายพันธุ์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งครอบคลุมประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย และเมียนมา ในปี 2563 ได้แก่พืช 155 สายพันธุ์, ปลา 16 สายพันธุ์, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 17 สายพันธุ์, สัตว์เลื้อยคลาน 35 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความจำเป็นในการปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ในการมีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมที่ถูกคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่า โรคภัย และอันตรายอื่น ๆ
นาย เค โยคานันท์ (K. Yoganand) หัวหน้าฝ่ายสัตว์ป่าและอาชญากรรมสัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำโขงของกองทุนสัตว์ป่าโลก กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ คือการวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานับล้านปี แต่ขณะนี้กำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามที่รุนแรง ทำให้มีอีกหลายสายพันธุ์ที่ต้องสูญพันธุ์ไปก่อนที่จะได้รับการจำแนกสายพันธุ์
นักวิทยาศาสตร์พบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่มากกว่า 3,000 สายพันธุ์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตั้งแต่ปี 2540 แต่การระบุสายพันธุ์ใหม่เป็นเรื่องยากและต้องใช้หลายวิธีในการจำแนก
ลิงสายพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า “ค่างโพพา” (Popa langur) ถูกจำแนกโดยการจับคู่ทางพันธุกรรม และเปรียบเทียบกระดูกกับตัวอย่างที่ค้นพบในช่วงเวลามากกว่าหนึ่งศตวรรษที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของอังกฤษ และชื่อค่างโพพามาจากการที่อาศัยอยู่ในเขตเชิงเขาของภูเขาไฟโปะป้า (Mt. Popa) ในเมียนมา และเป็นสัตว์ที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต หรือบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งคาดว่ามีลิงชนิดนี้เหลือรอดอยู่ในป่าเพียง 200 ถึง 250 ตัวเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมี นิวท์สีส้มนำตาล หรือ “กระท่างน้ำดอยภูคา” (Tylototriton phukhaensis) จากประเทศไทย และตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบคืออุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน บนแนวเทือกเขาหลวงพระบาง ซึ่งถูกพบจากภาพถ่ายอายุ 20 ปีจากนิตยสารท่องเที่ยว จุดประกายความสนใจของนักวิจัยในการค้นหาว่ายังคงมีอยู่หรือไม่
…
worldwildlife.org, nstda.or.th/sci2pub/tylototriton-phukhaensis, VOA
#กองทุนสัตว์ป่าโลก
#ลุ่มน้ำโขง