ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า สำนักงานความมั่นคงทางสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ประกาศชื่อของไวรัสลูกผสมระหว่างเดลตา-โอไมครอน แล้วคือ XD, XE และ XF โดย X หมายถึงการข้ามสายพันธุ์ ดังนั้น XD จึงหมายถึงการข้ามสายพันธุ์เดลตากับBA.1 , XE คือการข้ามสายพันธุ์ระหว่างโอไมครอน BA.1 กับ BA.2 และ XF คือการข้ามสายพันธุ์ระหว่างเดลตากับ BA.1
โดยในโพสต์มีเนื้อหาดังนี้
"จากเอกสารของ UK Health Security Agency ได้มีการตั้งชื่อไวรัสลูกผสมระหว่างเดลตา-โอไมครอน อย่างเป็นทางการออกมา แทนที่จะใช้ชื่อที่ไม่ค่อยมีประโยชน์อย่าง Deltacron ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ในเอกสารดังกล่าวได้พูดถึงไวรัสลูกผสมดังกล่าวอยู่ 3 รูปแบบคือ 1. XD 2. XE และ 3. XF โดย X มาจาก Cross หรือ การผสมข้ามสายพันธุ์ แต่ละรูปแบบเป็นอย่างไรให้ดูที่สีที่กำกับ โดยสี เขียว คือ สารพันธุกรรมของสายพันธุ์เดลตา สีม่วงเข้มคือ สารพันธุกรรมของ BA.1 และ สีม่วงอ่อนคือสารพันธุกรรมของ BA.2
XD คือ ไวรัสลูกผสมที่เกิดจากเดลตาและ BA.1 โดยไวรัสรูปแบบนี้นำยีนส่วนหนามสไปค์ของ BA.1 มาอยู่ในแกนของเดลตา อนุภาคไวรัสชนิดนี้จึงใช้โปรตีนหนามของโอไมครอน BA.1 ในการเข้าสู่เซลล์ แต่ใช้องค์ประกอบอื่นๆของเดลตาในการเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์เจ้าบ้าน ไวรัสรูปแบบ XD ปัจจุบันพบแพร่กระจายอยู่ในหลายประเทศนอกอังกฤษ เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และ เบลเยี่ยม
XE คือ ไวรัสลูกผสมระหว่างโอไมครอน BA.1 และ BA.2 ด้วยกันเอง โดยส่วนหน้าเป็น BA.1 และ ส่วนด้านท้ายจะมาจาก BA.2 เนื่องจากโปรตีนที่อยู่บนและในผิวอนุภาคไวรัสจะสร้างมาจากส่วนด้านท้ายของสายพันธุกรรม ดังนั้นถ้าดูลักษณะของอนุภาคของ XE จะไม่แตกต่างจาก BA.2 เลย เพียงแต่ว่ากลไกในการก่อเกิดโรค หรือ การเพิ่มจำนวนไวรัสที่ต้องอาศัยยีนในส่วนด้านหน้าอาจจะแตกต่าง เพราะโปรตีนนั้นมาจาก BA.1 ซึ่งก็ไม่แตกต่างจาก BA.2 สักเท่าไหร่ โดยสรุป ไวรัสรูปแบบนี้ไม่น่ามีอะไรกังวลมากไปกว่า BA.2 ปกติ
XF คือไวรัสลูกผสมระหว่างเดลตากับ BA.1 โดยโปรตีนโครงสร้างทั้งหมดมาจาก BA.1 และ โปรตีนบางชนิดที่ถอดรหัสจากส่วนของเดลตา อนุภาคไวรัสไม่แตกต่างจาก BA.1 โดยทั่วไป แต่คุณสมบัติบางอย่างอาจแตกต่างเนื่องมาจากยีนส่วนที่ได้รับจากเดลตามาอาจไม่เหมือนกับ BA.1
ข้อสังเกตคือ Delta-BA.2 จะไม่มีการรายงาน เป็นเพราะช่วงที่ BA.2 ระบาดจะมีไวรัส Delta อยู่น้อยมากแล้ว การเกิดไวรัสลูกผสมจึงยากที่จะเกิดขึ้น และ ในบรรดาสามรูปแบบข้างต้น ส่วนตัวคิดว่า XD มีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะเกิดไวรัสที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากเดิมที่มีอยู่ ซึ่งต้องคอยติดตามไปอย่างใกล้ชิดครับ"
...
fb Anan Jongkaewwattana
#ไวรัสลูกผสม