ความกังวลต่อวิกฤตอาหารทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้นเนื่องจากสงครามในยูเครน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น สหประชาชาติ ระบุว่าในปีที่ผ่านมา (2564) ราคาอาหารโลกแพงขึ้นเกือบหนึ่งในสาม ราคาปุ๋ยปรับขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่ง และราคาน้ำมันปรับขึ้นเกือบสองในสาม
นางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวในที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าทั่วโลกกำลังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงแนะนำให้นานาประเทศลดอุปสรรคทางการค้าเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนและลดราคาสินค้า หลังจากมากกว่า 30 ประเทศ ต้องออกมาตรการระงับการส่งออกสินค้า ประเภทภาคอาหาร พลังงาน หรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เตือนว่าภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีปรากฏการณ์ขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นทั่วโลก หากประชาคมระหว่างประเทศไม่ร่วมกันดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งเขาเสนอแผนการทำงานเพื่อจัดการปัญหา คือ เร่งจัดหาอาหารและปุ๋ย เพิ่มระบบการคุ้มครองทางสังคมภายในประเทศ สนับสนุนการเข้าถึงการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ผลิตอาหารรายย่อย และสนับสนุนเงินทุนผู้ดำเนินงานด้านมนุษยธรรมเพื่อลดความหิวโหย
ในรายงานของสหประชาชาติ ระบุว่า จำนวนประชาชนที่อยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา จาก 135 ล้านคนก่อนเกิดโรคโควิด-19 เป็น 276 ล้านคนในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเอธิโอเปีย โซมาเลีย และเคนยา จำนวนผู้ที่เผชิญกับความอดอยากรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวตั้งแต่ปีที่แล้ว (2564) คือจากประมาณ 10 ล้านคนเป็นมากกว่า 23 ล้านคนในปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต 1 คนทุกๆ 48 วินาทีจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความหิวโหย
ราคาข้าวสาลีปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีความตึงเครียดในยูเครน เนื่องจากยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก และเมื่อรัสเซียโจมตียูเครน ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 80 ต่อมาอินเดียที่ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีทดแทน ประสบปัญหาคลื่นความร้อนทำลายผลผลิตข้าวสาลีในประเทศ รัฐบาลจึงประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี ผลักดันให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ตามข้อมูลของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติทำให้บางประเทศใกล้ล่มสลาย เช่น
-ศรีลังกา อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง
-อัฟกานิสถาน หน่วยงานด้านมนุษยธรรมเตือนว่าชาวอัฟกันตกอยู่ในภาวะหิวโหยมาหลายเดือนแล้ว
-เลบานอนอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจมานานกว่าหนึ่งปี
ส่วนประเทศมหาอำนาจของโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเช่นกัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จากปีก่อนหน้า, ค่าอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 โดยราคาเนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา และไข่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 จากปีก่อนหน้า, ในเดือนมีนาคม ประมาณร้อยละ 65 ของธนาคารอาหาร 200 แห่งในเครือข่าย Feeding America ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แจ้งขอความช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ จีน ต้องรับมือกับ ราคาผักสดสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 24
.....
#วิกฤติอาหารโลก
#สหประชาชาติ
#ไอเอ็มเอฟ