หลังจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลก ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยกว่า 16,000 คนจาก 75 ประเทศทั่วโลก สำนักข่าวซีเอ็นเอของสิงคโปร์ รายงานว่า พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการใหญ่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก(WHO) แนะนำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ยกระดับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง รณรงค์มาตรการป้องกันและควบคุมโรค เน้นตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มชายรักชาย รวมทั้งทำการวิจัยวัคซีน
พญ.เคตราปาล ซิงห์ กล่าวว่า ในปัจจุบันโรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และระบาดไปยังหลายประเทศซึ่งไม่เคยพบการระบาดมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง แต่คนไข้ส่วนใหญ่จำกัดในกลุ่มชายรักชาย จึงเป็นไปได้ที่จะจำกัดการแพร่ระบาด โดยเน้นการดูแลประชากรเสี่ยงกลุ่มนี้มากขึ้น แนะนำให้ใช้กระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้มาตรการที่เหมาะสมในการสกัดการแพร่ระบาด ขอให้เลี่ยงการตราหน้า หรือการเลือกปฏิบัติกับผู้ป่วย
ด้านนพ.อาเมช อดัลจา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อชาวอเมริกัน จากศูนย์ความมั่นคงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์สหรัฐฯ กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอว่า มีการแพร่ระบาดเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยชายรักชาย ซึ่งเป็นสัญญาณในเชิงระบาดวิทยาที่ชัดเจนทำให้มีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองกลุ่มชายรักชายให้มากขึ้น รวมถึงการเร่งตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเพื่อนำผู้ป่วยที่แท้จริงมาเข้ารับการรักษาอาการป่วย
สำหรับประเทศในเอเชียที่พบผู้ป่วย เช่น สิงคโปร์ มีผู้ป่วย 8 คนนับแต่เดือนมิถุนายน ส่วนประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามการแบ่งพื้นที่ของ WHO เช่น อินเดียพบผู้ป่วย 3 คนและประเทศไทยหนึ่งคน (ชาวไนจีเรียอายุ 27 ปี)
สำหรับสิงคโปร์ นายออง เย กุง รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ยังไม่แนะนำให้มีการจัดโครงการฉีดวัคซีนต้านโรคฝีดาษลิงให้กับประชาชน เนื่องจาก ลักษณะของโรคยังคงระบาดในวงจำกัด เช่น เฉพาะผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดซึ่งยังมีจำนวนไม่มาก และการจัดโครงการวัคซีนเช่นนั้นมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าผลดี แต่กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
#องค์การอนามัยโลก
#เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
#โรคฝีดาษลิง