สถานการณ์โรคโควิด-19 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.เป็นต้นมา จะเห็นตัวเลขผู้ป่วยโควิดแตะครบ 3 ตัวเลข ทั้งปอด อักเสบเกิน 800 กว่าราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 400 กว่าราย และเสียชีวิต 30 รายแล้ว นับเป็นสัญญาณว่ามีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กลุ่มผู้มีอาการหนักและเสียชีวิตทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ อายุมาก กับฉีดวัคซีนไม่ครบ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ต่างประเทศก็เช่นกัน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำตอนนี้ คือ คุมการติดเชื้อระดับหนึ่ง พร้อมย้ำเตือนถึงการฉีดวัคซีน ข้อมูลตอนนี้จะเห็นว่า 3 เข็มลดการติดเชื้อไม่ได้มาก แต่ยังลดความรุนแรงได้ แต่หากต้องการลดการติดเชื้อต้องฉีด 4 เข็ม โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยง คนที่ฉีด 3 เข็มตอนนี้เชื่อว่าภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะสายพันธุ์ BA.4 BA.5 ที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในไทยขณะนี้ พบว่าภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อจากการฉีดวัคซีนลดลงประมาณ 1 ใน 3 เมื่อ เทียบกับ BA.1 BA.2
ส่วนการสวมหน้ากากอนามัย นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวว่า เนื่องจากหลายคนไปชะล่าใจคิดว่าเชื้อไม่รุนแรงจึงปล่อย แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อจำนวนมาก ที่สำคัญคือเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ใหม่อีก เชื้อไวรัสโคโรนาเมื่อถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนในเวลาที่เร็วและจำนวนมากๆ บ่อยครั้งทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ หากเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงก็จะเดือดร้อนกันอีก
ดังนั้นอยากชวนคนไทยให้กลับมาดูแลตนเอง สร้างสมดุลระหว่างสุขกับเสี่ยง คิดให้ดี เพราะความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ด้วยการฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ก็จะมีโอกาสไปร่วมกิจกรรมในสังคมอื่นๆ ได้
สำหรับข้อเสนอไปยังศบค. ให้สวมหน้ากากในพื้นที่เสี่ยง ศ.นพ.ประสิทธิ์ เชื่อว่าข้อมูลต่างๆ คงมีการนำเสนอต่อ ศบค.มากขึ้นเรื่อยๆ โควิดไม่สามารถที่จะออกมาตรการใดมาตรการหนึ่งแล้วคงอยู่เช่นนั้นต่อเนื่องไป 7-8 เดือน มาตรการต้องปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ให้สอดรับกับสถานการณ์ เมื่อเราเห็นแนวโน้มไปในทางที่ไม่ดีนักก็ต้องรีบกระชับเข้ามาให้มากขึ้น
ด้านสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดที่เข้ามารักษาที่ รพ.ศิริราชมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ครองเตียงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน รพ.ยังต้องรักษาคนไข้อื่น ๆ เต็มรูปแบบด้วยเช่นกัน
#โควิด19
แฟ้มภาพ