บริษัทวิจัยแกลลอป (Gallup poll) เผยแพร่ผลการวิจัย ที่มีชื่อว่า “รายงานอารมณ์โลก” (Global Emotions Report) ที่เป็นการสำรวจความเห็นใน 122 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า ในปี 2564 ผู้คนทั่วโลกไม่มีความสุขและมีความเครียดมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยผู้ใหญ่จำนวน 4 ใน 10 คนยอมรับว่า พวกเขารู้สึกกังวลหรือมีความเครียดเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องแยกตัวออกห่างจากสังคม และมีความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของความเศร้าและความเครียดได้เช่นกัน
นางแครอล แกรมห์ นักวิจัยอาวุโสจากแกลลอป เปิดเผยว่า หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้คนมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง คือ ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเชิงโครงสร้างส่งผลลบต่อคนกลุ่มนี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะสะท้อนออกมาผ่านสุขภาพจิต โดยพบปัญหานี้ชัดเจนในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาไม่สูงมากนัก ซึ่งพวกเขามีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับอนาคต ความมั่นคงในชีวิต และภาวะต่าง ๆ ในตลาดแรงงาน รวมทั้ง ประเด็นเรื่องระดับความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มแรงงานที่มีทักษะและกลุ่มแรงงานที่ไร้ทักษะซึ่งกำลังขยายตัวมากขึ้นและมีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตทางด้านเทคโนโลยี
ผลการสำรวจ พบว่า อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีความสุขมากที่สุด และชาวอัฟกันอยู่ในกลุ่มผู้ที่ต้องเผชิญประสบการณ์ที่ย่ำแย่ในลำดับต้น ๆ ของโลก
ผู้วิจัยยังระบุด้วยว่า ความสุขของคนทั่วโลกมีแนวโน้มในทิศทางขาลงมาเป็นเวลามากกว่าทศวรรษแล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญคือ “สื่อโซเชียล” และการเผยแพร่ข้อมูลจำนวนมากที่ไม่ถูกกลั่นกรอง ทำให้ผู้รับสารมีปัญหาสุขภาพจิตและมีความสุขลดลง
นายจอช ไบรลีย์ นักจิตวิทยาจากสถาบันความเครียดแห่งอเมริกา (The American Institute of Stress) ให้ความเห็นด้วยว่า ปัจจุบัน ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ในโลกออนไลน์มากกว่าในชีวิตจริง และในขณะที่มีการเชื่อมต่อกับคนทั่วโลกมากขึ้น แต่หลายคนกลับไม่รู้จักชื่อของเพื่อนบ้านของตัวเองเลย
….
#แกลลอป
#คนทั่วโลกเครียดมากขึ้น
VOA