นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของเอเชีย เพิ่มจากร้อยละ 25 ก่อนวิกฤตการเงินทั่วโลกขึ้นมาเป็นร้อยละ 38 ในยุคการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เอเชียเกิดภาวะเปราะบางกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต
รายงานระบุว่า ระดับหนี้สินรวมในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและภาวะการเงินที่ตึงตัวทั่วภูมิภาคเอเชียซึ่งทำให้ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ประเทศที่มีความเสี่ยงได้แก่ ลาว มองโกเลีย มัลดีฟส์ และปาปัวนิวกินี พร้อมทั้งระบุว่า ในกรณีของศรีลังกานั้นได้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว
ไอเอ็มเอฟ เสนอแนะให้ธนาคารกลางของประเทศในเอเชีย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ การสู้รบในยูเครน ราคาสินค้าทุกกลุ่มรวมทั้งอาหารและน้ำมันแพงขึ้น ท้ายที่สุด ประเทศต่างๆอาจจะต้องปรับเพิ่มค่าแรง ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน
นายกฤษณะ กล่าวว่า เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อัตราเงินเฟ้อของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศในเอเชียขยับขึ้นมาอยู่ในอัตราสูงเกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางตั้งไว้
ไอเอ็มเอฟ กล่าวถึง ปัญหาเงินทุนไหลออกจากเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย ระบุว่า มีเงินทุนไหลออกจากอินเดีย 23,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าสูงมาก นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน และมีเงินทุนไหลออกจากเกาหลีใต้และไต้หวันเช่นกัน
#ไอเอ็มเอฟ
#หนี้สาธารณะในเอเชีย