สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปิดตลาดเมื่อคืนนี้ (1 ส.ค.65) ลดลงแรง ท่ามกลางข้อมูลการผลิตที่อ่อนแอจากจีนและสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนวิตกว่าการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันพุธ (3 ส.ค.65) โดยที่ประชุมจะพิจารณานโยบายการผลิตสำหรับเดือนก.ย.65หลังจากมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 648,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนส.ค.65
-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนก.ย.65 ลดลง 4.73 ดอลลาร์ ปิดที่ 93.89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
-เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนต.ค.65 ลดลง 3.94 ดอลลาร์ ปิดที่ 100.03 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
*น้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 3.15 ดอลลาร์ ปิดที่ 140.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เมื่อเดือน ก.ค.65 โรงงานต่างๆทั่วเอเชียและะยุโรป ต่างประสบปัญหา เนื่องจาก อุปสงค์โลกอ่อนแอและข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ที่เข้มงวดของจีน ทำการผลิตชะลอตัว จากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์(1ส.ค.65) ซ้ำเติมความกังวลว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯร่วงลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือนก.ค.65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.63
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตร่วงลงสู่ระดับ 49 ในเดือนก.ค.65 จากระดับ 50.2 ในเดือนมิ.ย.65 ขณะที่ เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนลดลงสู่ระดับ 49.8 ในเดือนก.ค.65 จากระดับ 52.1 ในเดือนมิ.ย.65
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ของจีนและยูโรโซน อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ชี้ว่า ภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่ลิเบียเพิ่มกำลังการผลิตสู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากเดิม 800,000 บาร์เรล/วัน และเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 11 แท่นในเดือนก.ค.65 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 23 ติดต่อกัน
#น้ำมันโลกลดลง
แฟ้มภาพ