นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กล่าวในพิธีเปิดประชุมของกลุ่มประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ระบุว่า โลกในปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์ไม่มั่นคงมากขึ้น อีกทั้งเสี่ยงมีการนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้สู้รบกัน เตือนว่า ถ้าชาติมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ของโลกประเทศใดประเทศหนึ่งประเมินสถานการณ์ผิดพลาด แค่กดปุ่มนิวเคลียร์ครั้งเดียว หายนะร้ายแรงจะเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างชนิดที่คนทั่วโลกไม่เคยประสบมาก่อนนับตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
นายกูแตร์เรส ระบุว่า ที่ผ่านมา พวกเราโชคดีมาก ที่ไม่เกิดสงครามนิวเคลียร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เตือนว่า ความโชคดีที่คนทั่วโลกมีความสุขเช่นนี้อาจจะไม่ยั่งยืนตลอดไป ไม่อาจจะเป็นเกราะกำบังความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมือง ซึ่งอาจจะบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ก็เป็นได้ เนื่องจาก สถานการณ์โลกในปัจจุบัน มีแนวโน้มตึงเครียดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น สถานการณ์ในยูเครน ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี และตะวันออกกลาง พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันผลักดันให้มีการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดสิ้นไปจากโลก
ที่ผ่านมา รัสเซียถูกหลายฝ่าย วิจารณ์ว่า ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในยุโรป ไม่กี่วันหลังบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย สั่งการให้กองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียยกระดับการพร้อมปฏิบัติการในขั้นสูงสุด
ก่อนหน้านี้ ยูเอ็นเสนอให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2511 หลังวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 2505 หรือเหตุการณ์ที่คิวบา พันธมิตรของอดีตสหภาพโซเวียต หรือรัสเซียในปัจจุบัน อนุญาตให้อดีตสหภาพโซเวียตเข้าไปติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ เพื่อโจมตีสหรัฐฯ ขณะที่สหรัฐฯคัดค้านเนื่องจากคิวบาอยู่ไม่ห่างจากสหรัฐฯจนกระทั่งสถานการณ์ตึงเครียดสูงจนเกือบจะกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ข้อตกลงนี้มุ่งจะหยุดยั้งการแพร่กระจาย เช่น การจัดส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปยังประเทศอื่นๆ และมีเป้าหมายสุดท้ายคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก
เกือบทุกประเทศทั่วโลก ต่างร่วมลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ รวมถึง 5 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ของโลกคือ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซียและจีน แต่ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญานี้คือ อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือและปากีสถาน
#ยูเอ็น
#สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์