นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยข้อมูลการประชุมศบค.ชุดเล็กว่าตัวเลขที่ติดตามอยู่ตลอด คือ ผู้ป่วยอาการหนักและตัวเลขการเสียชีวิตแนวโน้มเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 ขึ้นไปมีความสำคัญมาก และจะมีการประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 19 ส.ค.65
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในโรงพยาบาลวันนี้ 2,166 คน ขณะที่ ผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียน OPSI เจอ แจก จบ ซึ่งตรวจแบบ ATK ในสัปดาห์ที่ 30 ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค.65 จำนวน 201,554 คน หรือเฉลี่ยวันละ 28,793 คน
ข้อมูลวันที่ 22 ก.ค.65 ถึงวันที่ 4 ส.ค.65 พบว่า
-ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 393 คน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 476 คน
-ปอดอักเสบ จาก 868 คน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 905 คน
-เสียชีวิตจาก 21 ราย เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 608 ในพื้นที่กรุงเทพฯมากที่สุด
หากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่ม ผู้ป่วยอาการหนักก็จะเพิ่มขึ้น ขณะนี้ ศักยภาพในการดูแล และอัตราการครองเตียง อยู่ในระดับ 17.1% ยังไม่เกินศักยภาพที่รองรับได้ แต่บางพื้นที่อัตราการครองเตียงระดับ3 สูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข มั่นใจว่าสามารถขยายเตียงได้
ผลจากการผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า ข้อมูลในช่วงวันที่ 1-31 ก.ค.65 หลังจากยกเลิก Thailand Pass นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 1 ล้าน 7หมื่นคน เพิ่มขึ้นจากเมื่อเดือนมิ.ย.65 ที่ 7แสน 6หมื่นกว่าคน ประเทศที่เดินทางเข้ามามากที่สุด คือ มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และ สหรัฐฯ เฉลี่ยเดินทางเข้ามาประมาณวันละ 30,000 คน
กระทรวงสาธารณสุขและสนามบินสุวรรณภูมิ สุ่มตรวจ เมื่อช่วงวันที่ 1-31 ก.ค.65 คนที่เดินทางเข้ามา 70,614 คน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ พบว่า ส่วนมากมีใบวัคซีนครบตามเกณฑ์ 116,850 คน และมีใบรับรองผลการตรวจ ATK และ PCR 704 คน ไม่มีใบรับรองและไม่มีผลตรวจ 13 คน ถือว่าต่ำ แสดงให้เห็นว่า มาตรการได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
กรมอนามัย ได้เสนอชุดข้อมูล และผลสำรวจเพื่อตรวจสอบการติดเชื้อในสถานศึกษา พบว่า จากการสำรวจเด็ก 49,242 คน พบติดเชื้อ 30.56% ยังคงปฎิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ วัดไข้ ลดไปในพื้นที่แออัด กักตัวเองหากมีความเสี่ยง รวมทั้งสถานศึกษาใช้ 7มาตรการเข้ม
เมื่อเปิดเรียนแล้ว จากการสำรวจเด็ก 10,116 คน พบว่า ส่วนมากติดเชื้อมาจากบุคคลในบ้าน รองลงมาไม่ทราบสาเหตุ ส่วนการติดเชื้อในโรงเรียน พบเพียง 5.66% เท่านั้น อาการที่พบมาก คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดตามกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของลูกหลานได้ ส่วนเด็กนักเรียน เป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อด้วยหรือไม่ ผลสำรวจ พบว่า มีครอบครัวแค่ 0.36% ที่ติดเชื้อจากนักเรียนที่ไปโรงเรียน
#โควิด19
CR:ศูนย์ข้อมูลCOVID-19