การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ได้ระบุถึง เรื่องน้ำท่วม ที่พบปัญหาคือข้อมูลของส่วนกลางยังไม่เชื่อมกับเขตซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย ควรมีการรวบรวมจุดอ่อนน้ำท่วมจากเขตมาอยู่ที่ส่วนกลาง ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็ว เพราะเขตทำงานหนัก มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่พอข้อมูลไม่ได้มารวมกับส่วนกลาง ทำให้ส่วนกลางมองไม่เห็นปัญหา ทำให้การวางแผนระยะยาวไม่ได้รับการแก้ไข บางจุดอาจจะท่วมซ้ำซาก แต่ศูนย์จะพบว่า น้ำแห้งหมดแล้ว เพราะสำนักการระบายน้ำจะมีข้อมูลเฉพาะถนนสายหลัก
ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ข้อมูลทางเขตมาปรากฏในภาพรวม ซึ่งจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ ต้องมีการอัปเดตจุดน้ำท่วมซ้ำซาก จะต้องมีการนำข้อมูลมารวมที่ส่วนกลาง โดยอาจใช้โปรแกรมทำงานร่วมกันระหว่างสำนักการระบายน้ำ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ทำให้เห็นภาพรวม เรามีหลายหน่วยงานอยากจะช่วยให้กทม.ดีขึ้น ถ้าเรามีข้อมูลส่วนกลางที่ชัดเจนขึ้น เราจะสามารถแจกงานได้ ผอ.เขตย่อมรู้เรื่องภายในพื้นที่เขตตนเองดี ก็รายงานข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อให้ทราบว่ามีน้ำท่วมที่ซอยไหน
ด้านสำนักการระบายน้ำ ได้รายงานการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ในปี 2565 โดยเตรียมแผนรับมือรับน้ำหลากและน้ำทะเลหนุน ดำเนินการตรวจสอบจุดรั่วซึม ของ แนวป้องกันน้ำท่วม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 79.63 กม. เรียงกระสอบทราย ในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ ยาว 2,918 เมตร ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือกับกรมชลประทาน และกำหนดเกณฑ์การร่วมบริหารจัดการน้ำผ่านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และส่งเจ้าหน้าที่ตรวจตราจุดที่คาดว่าจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าท่วมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 85 สถานี ให้พร้อมทำงานตลอดเวลา
รวมทั้งแผนรับมือสถานการณ์ฝน ควบคุมระดับน้ำในคลอง เตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำ แก้มลิง Water Bank บ่อสูบน้ำและสถานีสูบน้ำ ระบบคลอง ระบบท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าสำรอง เครื่องผลักดันน้ำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปริมณฑล ในส่วนของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และสถานการณ์ฝน ตลอด 24 ชม. และรายงานตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือนจากเรดาร์ตรวจวัดสภาพอากาศ 2 แห่ง (หนองแขม และหนองจอก) ซึ่งรายงานทุก 15 นาที ในแต่ละวัน พร้อมทั้งประสานแจ้งหน่วยปฏิบัติการเข้าแก้ไขสถานการณ์ เตรียมความพร้อมจุดตรวจวัดน้ำท่วม และให้การช่วยเหลือ และสนับสนุนสำนักงานเขตด้วย
#รับมือน้ำท่วม
#กรุงเทพมหานคร