สำนักข่าวเกียวโดรายงานอ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นว่า รัฐมนตรีต่างประเทศจากกลุ่มอาเซียน บวกสามคือ ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ เริ่มประชุมในกรุงพนมเปญ กัมพูชาในวันนี้ โดยหัวข้อสำคัญๆที่จะมีการพูดคุยในที่ประชุม เช่น สถานการณ์สู้รบในยูเครน ความมั่นคงด้านอาหาร การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดถึงปัญหาความมั่นคงระดับภูมิภาค เช่น สถานการณ์ในเมียนมา การทดลองอาวุธขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและปัญหาอื่นๆในระดับนานาชาติ รวมถึงการเพิ่มความร่วมมือทางการเงินระดับภูมิภาค
หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า บางประเทศในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรจากยูเครนอาจจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหารหลังรัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนจุดยืนเรื่องยูเครน สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศมีจุดยืนที่ต่างกัน เช่น สิงคโปร์ เป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่เข้าร่วมกับสหรัฐฯในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มอาเซียนไม่ประณามรัสเซียโดยตรง
ขณะเดียวกัน กลุ่มจี -7 ซึ่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นสมาชิก ร่วมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย รวมถึงการอายัดทรัพย์สินของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียและทรัพย์สินของธนาคารกลางของรัสเซีย พร้อมทั้งห้ามธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียบางแห่งเข้าร่วมระบบการชำระเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการระหว่างประเทศหรือสวิฟท์
ส่วนจีนไม่คว่ำบาตรรัสเซีย และยังได้เพิ่มการซ้อมรบกับรัสเซียมากขึ้น โดยเฉพาะในและเหนือน่านน้ำของญี่ปุ่น ส่วนเรื่องความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี มีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง หลังเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลมาหลายครั้งในปีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ในเร็วๆนี้ เกาหลีเหนืออาจจะทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 และจะเป็นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2560
การจัดประชุมแบบเจอหน้ากันในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เกิดโควิด-19 แพร่ระบาดในปี 2562 และการประชุมครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังมีความตึงเครียดสูงขึ้นในบริเวณโดยรอบของเกาะไต้หวัน หลังนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯแวะเยือนกรุงไทเป เพื่อพบปะกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวัน เมื่อวันพุธ ก่อนมุ่งหน้ายังเกาหลีใต้ค่ำวาน แม้ว่าประเทศจีนคัดค้านเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น โดยมองว่า เป็นการก้าวก่ายกิจการภายในของจีน เพราะไต้หวัน นับเป็นอาณาเขตส่วนหนึ่งของจีน
#อาเซียนบวกสาม
#สถานการณ์ในยูเครน
#ความมั่นคงภูมิภาค