ช่วงเย็นวันนี้ (18 สิงหาคม) หลังฝนตกหนัก หลายพื้นที่ของกรุงเทพฯเมื่อฝนซา ฟ้าเปิด ทำให้มีแดดเกิดปรากฎการณ์ “รุ้งกินน้ำ” ทำให้มีการเผยแพร่ภาพความสวยงามของ รุ้งกินน้ำ พร้อมติดแฮชแท็ก #รุ้งกินน้ำ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ เปิดเผยกับจส. 100 ว่า รุ้งกินน้ำ ช่วงหลังจากฝนตกใหม่ๆ เกิดจากหยดน้ำฝน ที่บางส่วนยังเหลืออยู่ในอากาศ พอแสงอาทิตย์ไปส่องเกิดการหักเหของแสง หักเห 1 ครั้ง ก็เป็นรุ้งตัวที่ 1 หากหักเห 2 ครั้ง ก็เป็นรุ้งตัวที่ 2 ที่ด้านบน แต่ รุ้งตัวที่ 2 จะจางกว่าเพราะบางครั้งแสงอาทิตย์อาจไม่จ้าพอ หรืออาจมีเมฆบัง
สำหรับภาพที่เห็นในวันนี้ เป็นแบบ รุ้งคู่ หรือ รุ้งแฝด ตัวล่างเรียก รุ้งปฐมภูมิ สว่างกว่าตัวบนเสมอ ส่วนตัวบน เรียก รุ้งทุติยภูมิ การที่เห็นรุ้ง 2 ตัว ถือว่าโชคดี แสดงว่าวันนี้ แสงจากดวงอาทิตย์ ไม่ได้สว่างมาก จากที่ดูหลายๆภาพ ภาพบางภาพ เห็นรุ้งมี7สี ครบ แต่หลายภาพ รุ้งจะออกเป็นสีส้มๆ ซึ่งถ้าแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบหยดน้ำแสงสีขาว สีรุ้งก็จะเห็น 7 สี แต่ถ้าช่วงเย็น มีแสงอาทิตย์เป็นสีเหลืองๆส้มๆ ก็จะเห็นรุ้งเป็นสีส้มออกเหลือง หรือไม่ก็จะมี สีแดง บางครั้ง หากสังเกตดีๆ รุ้ง 2 ตัวที่ปรากฏ จะหันสีแดงเข้าหากัน ตัวล่าง สีแดงจะหันเข้าหาตัวบน รุ้งที่ปรากฏช่วงเย็น หลายคนเห็นช่วงกลับบ้าน ก็ช่วยคลายรถติดไปได้มาก หลายคนเห็นจนต้องหยิบโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูป
ดร.บัญชา ย้ำว่า จริงๆรุ้งในธรรมชาติมีทั้งหมด 15 แบบ รุ้งตัวหนึ่งอาจแตกเป็น 2 คู่ ไม่จำเป็นต้องเป็น 7 สี เสมอไป เป็นรุ้งสีขาวหรือ ‘รุ้งเผือก’ ก็มี ใครที่ไปเที่ยวทะเลหมอก ช่วงปลายปี ก็จะเห็น มีฉากด้านหลังเป็นดวงอาทิตย์ หรือเวลาใครขึ้นเครื่องบิน เวลาที่เครื่องบินผ่านเมฆเข้าไป ก็จะเห็นรุ้งเผือกอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ หรือ รุ้ง อีกชนิดที่เห็นได้ยาก คือ ‘รุ้งซี่’ ลักษณะจะเป็น ซี่ล้อรถ หรือ ล้อรถม้า สีขาวสลับดำ ซึ่งก็เคยมีคนไทยเคยถ่ายไว้ได้
#รุ้งแฝด