เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติพืชกระท่อมพ.ศ. ๒๕๖๕
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยพืชกระท่อม
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๔๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าหรือการส่งออกใบกระท่อมเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด และเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีและบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่น จากการบริโภคใบกระท่อม ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
พระราชบัญญัติฉบับนี้มีทั้งสิ้น ๔๒ มาตรา มีเนื้อหาที่สำคัญคือ
มาตรา ๙ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมพืชกระท่อมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ การใช้ตามวิถีชุมชน และคุ้มครองสุขภาพของบุคคล ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีหน้าที่ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนประชาชนในการเพาะ ปลูก หรือแปรรูปพืชกระท่อม เพื่อใช้ตามวิถีชุมชนและในการพัฒนาให้เป็นพืชที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งการเพาะปลูก แปรรูปพืชกระท่อม หรือการพัฒนาสายพันธุ์ของพืชกระท่อม การผลิต การจัดการ และการตลาด รวมทั้งเพื่อการใช้ประโยชน์และโทษจากพืชกระท่อมและใบกระท่อมในการคุ้มครองสุขภาพของบุคคล
(๓) ให้ความรู้ และจัดทำเอกสารคำแนะนำ คู่มือ หนังสือวิชาการ หรือเอกสารอื่นใดที่ส่วนราชการจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม โดยไม่ต้องเสียค่าเอกสาร
มาตรา ๑๐ ผู้ใดประสงค์จะนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อมต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต
ไม่ใช้บังคับต่อผู้ที่นำเข้าหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อใช้บริโภคเป็นการส่วนตัว บำบัด หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยของผู้ซึ่งเดินทางระหว่างประเทศในปริมาณที่จำเป็นสำหรับการบริโภคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๒๔ ห้ามขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคล ดังต่อไปนี้
(๑) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี
(๒) สตรีมีครรภ์
(๓) สตรีให้นมบุตร
(๔) บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันประกาศกำหนด
ให้ผู้ขายมีหน้าที่ปิดประกาศหรือแจ้ง ณ สถานที่ขาย ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่เป็นการขายโดยวิธีการหรือในลักษณะอื่น เช่น การขายทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ดำเนินการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
มาตรา ๒๕ ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อมในสถานที่ โดยวิธีการ หรือในลักษณะอย่างหนึ่ง อย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
(๒) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก
(๓) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก
(๔) ขายโดยใช้เครื่องขาย
(๕) ขายในสถานที่ โดยวิธีการ หรือในลักษณะอื่นใด ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันประกาศกำหนด
มาตรา ๒๖ ห้ามผู้ใดโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดใบกระท่อมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจสาธารณชนให้บริโภคใบกระท่อมที่ปรุงหรือผสมกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา วัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย หรือวัตถุอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๗
มาตรา ๒๗ ห้ามผู้ใดบริโภคใบกระท่อมที่ปรุงหรือผสมกับยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา วัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย หรือวัตถุอื่นใดตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นการบริโภคตามวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
(๑) เพื่อการรักษาโรค บำบัด หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
(๒) เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม สภากาชาดไทย หรือสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียน การสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการที่ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของผู้ทำการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัยนั้น หรือคณะกรรมการที่ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนดในกรณีที่เป็นการศึกษา วิเคราะห์ หรือวิจัย ที่ดำเนินการร่วมกันหลายองค์กรหรือหลายหน่วยงาน
หมวด ๗
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๓๒ ผู้ใดนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๓ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
มาตรา ๓๔ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือบุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๔ (๔) ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่า ของอัตราโทษตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๓๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
มาตรา ๓๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือบุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๔ (๔) ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของอัตราโทษตามวรรคหนึ่ง
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้น ไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการยกเลิกการกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ประชาชนจึงสามารถครอบครอง บริโภค และใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้ ประกอบกับเป็นพืชที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ จึงสมควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาพืชกระท่อมให้เป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งกำหนดมาตรการกำกับดูแลเฉพาะการนำเข้าหรือการส่งออกใบกระท่อมเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด และโดยที่การบริโภคใบกระท่อมมากเกินสมควรอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขาย การโฆษณา และการบริโภคใบกระท่อมเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่นจากการบริโภคใบกระท่อม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
...
อ่านฉบับเต็มได้ที่
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/052/T_0001.PDF
#พรบพืชกระท่อม