เหตุจลาจลในสนามกีฬาคานจูรูฮัน ในเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก อินโดนีเซีย เมื่อคืนวันเสาร์ (1 ตุลาคม 2565)หลังการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสร อาเรมา เอฟซี เจ้าบ้าน กับ สโมสร เปอร์เซบายา สุราบายา ทีมเยือน จบลงโดยทีมเยือนชนะเจ้าบ้าน 3-2 ประตู แฟนบอลทีมเจ้าถิ่นไม่พอใจ วิ่งกรูลงไปในสนามฟุตบอลเพื่อทำร้ายนักฟุตบอลทีมเยือนและกรรมการ ทำให้ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาควบคุมฝูงชน จนเกิดเหตุเหยียบกันตาย หรือขาดอากาศหายใจขณะแฟนบอลวิ่งหนีไปยังประตูทางออกของสนามกีฬา นอกจากนี้ แฟนบอลอารมณ์ร้อนบางคนของทีมเจ้าถิ่นยังขว้างก้อนหินใส่ตำรวจ และจุดไฟเผารถยนต์หลายคัน รวมถึงรถตำรวจหนึ่งคันที่ด้านนอกสนามกีฬา
ตัวเลขผู้เสียชีวิต นางซิติ นาเดีย ทาร์มิซิ (Siti Nadia Tarmizi) หัวหน้าสำนักงานสื่อสารและบริการประชาชน กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย เปิดเผยตัวเลขล่าสุด หลังนับตัวเลขใหม่รวมกับ 25 หน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่น ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตรวม 125 ราย ในจำนวนนี้ รวมถึงตำรวจ 2 ราย มีผู้บาดเจ็บ 323 คน จนถึงวันนี้ ผู้บาดเจ็บสาหัส 26 คนยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนที่เหลือ แพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน
ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงส่งเสริมบทบาทสตรีและคุ้มครองสิทธิ์เด็กของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต พบว่าเป็นเด็กเพิ่มขึ้นรวม 32 ราย เด็กที่อายุน้อยที่สุดที่เสียชีวิต อายุ 3-4 ขวบ
ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตรายละ 50 ล้านรูเปียอินโดนีเซีย (หรือ 120,856 บาท)
นายเดดี ปราเซตโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย กล่าวว่า สำนักงานตำรวจจังหวัดชวาตะวันออกลงโทษตำรวจเมืองมาลัง ฐานบกพร่องในการดูแลความปลอดภัยของสนามกีฬา พร้อมทั้งปลดหัวหน้าตำรวจเมืองมาลังออกจากราชการ มีผลทันที นอกจากนี้ ให้พักงานตำรวจอีก 9 คน แต่ไม่ระบุรายละเอียดว่าตำรวจดังกล่าวมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องใด
ด้านนายมาห์ฟัด แอมดี รัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของอินโดนีเซีย ประกาศตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งสอบสวนเรื่องนี้ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ เจ้าหน้าที่สมาคมฟุตบอล นักวิชาการและสื่อมวลชนของอินโดนีเซีย พร้อมเสนอแนะให้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องรับผิดชอบ คาดว่า คณะกรรมการชุดนี้จะสรุปผลการสอบสวนในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า พร้อมขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยของสนามกีฬา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุที่น่าเศร้าสลดเช่นนี้อีกในอนาคต
ขณะเดียวกัน สาธารณชนในอินโดนีเซีย รวมทั้งนายค็อยรุล อานัม (Choirul Anam) สมาชิกในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย แสดงความไม่พอใจต่อการยิงแก๊สน้ำตาควบคุมฝูงชนของตำรวจ ระบุว่า ถ้าตำรวจไม่ยิงแก๊สน้ำตา เหตุวุ่นวายอาจจะไม่บานปลายจนถึงขั้นเหยียบกันตายมากขนาดนี้
นายจานนี อินฟานติโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดอีกวันหนึ่งของวงการฟุตบอลทั่วโลก ทั้งนี้ ตามระเบียบการรักษาความปลอดภัยของ FIFA ห้ามตำรวจใช้แก๊สน้ำตาหรืออาวุธเพื่อควบคุมฝูงชนในสนามกีฬา
ด้านเปเล่ ตำนานดาวยิงทีมชาติบราซิล แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต โพสต์ข้อความทางอินสตาแกรมว่า เหตุรุนแรงกับการกีฬาไม่ควรจะมาเกี่ยวโยงกันได้ ระบุว่า แม้ทีมจะแพ้แต่เราควรมีมิตรภาพกับทีมคู่แข่ง
#อินโดนีเซีย
#จลาจลในสนามฟุตบอล
#เอเอฟพี