สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ได้โพสต์เเสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ครูมืด ประสาท ทองอร่าม ปรมาจารย์แห่งการนาฏยสังคีตไทย ซึ่งท่านเคยมีโอกาสมาเเสดงโขน ชุด รามาวตาร ที่ลานเมรุพรหมทัต กลางเมืองพิมายของเรา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ด้วย นอกจากนั้น บุคคลในแวดวงศิลปวัฒนธรรม อาทิ นักมานุษยวิทยาดนตรี “อานันท์ นาคคง”, “ครูเกรียงไกร อ่อนสำอางค์” จากวงกุญชรดุริยะ รวมไปถึงแฟนเพจด้านวัฒนธรรมต่างๆ ได้โพสต์แสดงความเสียใจสุดอาลัย ต่อการจากไปของ “ครูมืด-ประสาท ทองอร่าม
ครูมืดเสียชีวิตด้วยวัย 72 ปี จากโรคมะเร็งปอด หลังรักษาตัวมาเป็นระยะ 1 ปี ญาติจะนำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบางรักใหญ่ ย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี
“ครูมืด” เป็นศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เป็นนาฎศิลปินชาย โขนลิง ที่มีความสามารถในศิลปะการแสดงอีกหลายแขนงทั้งลิเก สวด แหล่ เห่ กล่อม การพากย์โขนละคร แสดงจำอวด ซึ่งครูมืดยังมีผลงานแสดงภาพยนตร์ และละครหลายเรื่อง มักจะเป็นเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม และวงการภาพยนตร์ เคยมีผลงานการแสดง 39 เรื่อง อาทิ พล นิกร กิมหงวน (ปี 2510) , ลูกโขน (ปี 2553) , อำแดงเหมือนกับนายริด (ปี 2555) , นาคี (ปี 2559) , เสน่ห์รักนางซิน (ปี 2561) , ภูตแม่น้ำโขง (ปี 2565)
ผลงานชิ้นสำคัญ คือการควบคุมการแสดงหนังใหญ่และโขนรามเกียรติ์ จัดแสดงหน้าพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ด้านเพจโบราณนานมา รายงานว่า “ครูมืด” ได้รับการถ่ายทอดวิชานาฏศิลป์ไทยทุกแขนงมาตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากในอดีต วัดพระพิเรนท์ ถือเป็นแหล่งรวมศิลปะการแสดงของไทยทุกแขนง ทั้งโขน ละคร ปี่พาทย์ จำอวด และการแสดงลิเก เมื่อจบการศึกษาระดับประถมศึกษา “ครูมืด” เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป์ (ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยนาฏศิลป) ในสาขาดุริยางค์ไทย ในขณะที่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนาฏศิลป์นั้น ครูมืด ได้รับการคัดเลือกเป็นนักเรียนในพระอุปถัมภ์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ซึ่งมีดำริให้คัดเลือกเด็กนักเรียน มาทำการฝึกหัดนาฏศิลป์ไทยทุกแขนง ทั้งการเรียนโขน ลิเก สวด แหล่ เห่ กล่อม การพากย์โขนละคร รวมทั้งการแสดงจำอวด โดยมีอาจารย์เสรี หวังในธรรม บรมครูด้านนาฏศิลป์ไทยเป็นผู้ดูแลและถ่ายทอดวิชาความรู้ ทำให้ “ครูมืด” ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ในศาสตร์แห่งนาฏศิลป์ไทยจากอาจารย์เสรี หวังในธรรม และได้รับการยอมรับว่าเป็นศิษย์เอกคนสำคัญของอาจารย์เสรี หวังในธรรม
“ครูมืด” เริ่มเข้ารับราชการที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในตำแหน่งศิลปินสำรอง ทำให้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงโขนหลายท่าน อาทิ อาจารย์เสรี อาจารย์ยอแสง ภักดีเทวา และอาจารย์เจริญ เวชเกษม และที่นี่เองทำให้ครูมืดได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์ในการแสดงโขน รวมทั้งเติบโตในตำแหน่งทางราชการ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งหัวหน้างานกลุ่มวิจัยพัฒนางานและการแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร
“ครูมืด” ถือเป็นศิลปินด้านโขนละคร ดนตรีไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านดนตรีและศิลปิน ประจำปี 2563 สาขา บุคคลต้นแบบผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีและศิลปะการแสดงโดย หออัครศิลปิน Hall Of Jazz อีกด้วย
#สิ้นครูมืด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:https://www.js100.com/en/site/news/view/46860