เที่ยวชม ตุ๊กตาบาร์โหน ภูมิปัญญาชาวศรีสัชนาลัย/พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ จ.สุโขทัย

06 เมษายน 2558, 16:55น.


 ที่จ.สุโขทัยในงานท่องเที่ยวตามรอยวีถีไทยของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือททท.ที่ได้นำคณะสื่อมวลชนไปชมตุ๊กตาบาร์โหนหรือตุ๊กตาเครื่องเล่นกีฬากายกรรมของนาย วงษ์ เสาร์ฝั้น อายุ 88 ปี ชาวบ้านในอ. ศรีสัชนาลัย ที่เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องเล่นดังกล่าว  นาย วงษ์ กล่าวถึงที่มาของการทำตุ๊กตาเครื่องเล่นกีฬากายกรรมว่า ในอดีตตัวเองชอบงานแกะสลักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วและชอบดูผู้สูงอายุประดิษฐ์ของใช้ในบ้าน ตัวเองจึงคิดทดลองประดิษฐ์เครื่องเล่นต่างๆตลอดจนเครื่องเล่นชนิดนี้ซึ่งเห็นว่า สามารถช่วยบริหารมือเด็กและคนชราให้คล่องแคล่ว เพื่อให้มีกำลังแขนที่ดี ซี่งผู้ที่เล่นตุ๊กตานี้จะต้องใช้กำลังแขนบีบไปที่ส่วนปลายของเสาบาร์แล้วตัวกายกรรมที่โหนอยู่กลางบาร์นั้นจะตีลังกากลับหลัง ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายแขนชนิดหนึ่ง โดยต่อวันจะประดิษฐ์ชิ้นส่วนของตัวนักกายกรรมได้วันละ 3 ชิ้น ซึ่งทุกชิ้นล้วนทำมาจากไม้ทั้งหมด ซึ่งจะค่อยๆประดิษฐ์แล้วเมื่อได้ชิ้นส่วนตัวนักกายกรรมจำนวนหนึ่งจึงจะนำมาประกอบกันเป็นตัวพร้อมกัน โดยจะขายเฉลี่ยตัวละ 150 บาท นาย วงษ์ ยังบอกว่าอยากให้คนรุ่นหลังอนุรักษ์งานแกะสลักไม้ไว้เพราะเป็นวัฒนธรรมไทย และยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ต่างๆของตัวเองให้กับผู้ที่สนใจด้วย เพราะมองว่างานแกะสลักไม้เป็นงานที่มีคุณค่าทางศิลปะและเชื่อว่าสามารถนำไปประกอบอาชีพที่มั่นคงได้ต่อไป





จากนั้นได้พาคณะฯไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสุดท้ายของวัน คือ สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำของนาย สาธร โสรัจประสบสันติ ซึ่งเปิดให้เข้าชมมาแล้ว 30 กว่าปี  นาย โสธร เล่าว่า นอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีร้านขายผ้าทอบนเนื้อที่กว่า 5 ไร่ ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้ เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมฟรีทุกวัน





พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำจะบอกเล่าเรื่องราวในอดีตและการแต่งกายรวมทั้งการใช้ชีวิตของชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง บริเวณหลวงพระบาง  ตัวลุงสาธรเองก็เป็น ชาวไทยพวนเช่นกัน โดยลุงสาธรเล่าว่า ในอดีตจะมีคำกล่าวถึงชาวไทยพวนว่า ผู้ชายตีเหล็ก ผู้หญิงทอผ้า ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ชาวไทยพวนทุกคนต้องทำได้ มิฉะนั้นจะไม่มีคู่ครอง ลุงสาธร เล่าต่อว่า ผู้หญิงไทยพวนที่ยังไม่แต่งงานจะสังเกตได้จากการแต่งกายโดยจะใส่ผ้าซิ่นตีนแดง ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่ผ้าซิ่นตีนดำ และเมื่อเรานำผ้าซิ่นมาประกอบเข้าชุดแล้วจะเรียกว่าชุดไทยใหญ่ ทั้งนี้ในพิพิธภัณฑ์ยังมีผ้าซิ่นทองคำจำนวน 2 ผืนที่ทำมาจากทองคำแท้กว่าร้อยละ 90 คิดเป็นมูลค่า1 ล้านบาทเศษต่อผืนด้วยโดยตัวเองได้ผ้ามาจากเมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมาร์ ลุงสาธร ระบุว่าปัจจุบันนี้ชาวไทยพวนเหลืออยู่ไม่มากและภาษาท้องถิ่นของชาวไทยพวนก็แทบไม่มีผู้ใดรู้จักแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ที่อ. ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกวันด้วย

ข่าวทั้งหมด

X