ภาวะเงินเฟ้อในลาวพุ่งขึ้นสู่ระดับร้อยละ 40.3 ในเดือน ม.ค.เมื่อเทียบรายปี สูงสุดในรอบ 23 ปี หนักที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียในปี 2540-2541 โดยเงินกีบมูลค่าลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างเดือน ก.ค. 2540 ถึง มิ.ย. 2541 เงินกีบมูลค่าลดลง 70% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( International Monetary Fund-IMF)
และแม้ว่ารัฐบาลพยายามควบคุมต้นทุนสินค้าและบริการที่สูงขึ้น แต่ราคาไม่มีทีท่าว่าจะลดลง จากข้อมูลของสำนักสถิติลาว อัตราเงินเฟ้อจะยังคงเป็นเลขสองหลักในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สองของปีนี้ แต่มาตรการของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้าและบริการ อาจให้ผลในเชิงบวกในไม่ช้า จึงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในปลายปีนี้
การอ่อนค่าของเงินกีบเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท และราคาน้ำมันที่พุ่งสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้สินค้าที่ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านมีราคาสูงขึ้น ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากเครื่องจักร น้ำมัน อาหารสัตว์และปุ๋ยต้องนำเข้าในราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น มากกว่าที่คาดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว อยู่ที่ ร้อยละ 12.81 ก่อนจะไต่ระดับเป็นร้อยละ 23.61 ในเดือน มิ.ย. ร้อยละ 25.62 ในเดือน ก.ค. 30.01 ในเดือน ส.ค. ร้อยละ 34.05 ในเดือน ก.ย.ร้อยละ 36.75 ในเดือน ต.ค.ร้อยละ 38.46ในเดือน พ.ย. และ ร้อยละ 39.27 ในเดือน ธ.ค.
ด้านรัฐบาลลาว ย้ำว่า จะดูแลทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างน้อยร้อยละ4.5 ในปีนี้(2566Xในขณะที่จะคุมเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 9 ธนาคารแห่งสปป.ลาว (BOL) ได้ประกาศว่าจะคุมเข้มอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และในช่วงกลางเดือน ม.ค. ได้สั่งให้หน่วยแลกเปลี่ยนเงิน 113 แห่งในเครือธนาคารให้ยุติการให้บริการ ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อคุมเข้มอัตราแลกเปลี่ยน
#เงินเฟ้อลาว
#เศรษฐกิจอาเซียน