ไกด์ท้องถิ่น พาชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ กิ่วแม่ปาน ร่วมอนุรักษ์ผืนป่าดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

16 กุมภาพันธ์ 2566, 14:43น.


          สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ติดตามความคืบหน้าการนำกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์และพันธุ์ไม้หายาก กลับคืนสู่ป่า 





          คุณเครือวัลย์ พิพัฒน์สวัสดิกุล หัวหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  กล่าวว่า ตลอดเส้นทางศึกษากิ่วแม่ปาน ระยะทางไปกลับประมาณ 6 กิโลเมตร  นักท่องเที่ยวจะได้เห็นกล้วยไม้รองเท้านารีที่หายากแล้วในปัจจุบัน แต่เจ้าหน้าที่พยายามอนุรักษ์และขยายพันธุ์ในโรงเพาะเลี้ยง ก่อนจะส่งกล้วยไม้คืนสู่ป่าธรรมชาติ  โดยนำไปเกาะที่คบคาของต้นไม้ใหญ่ 







               บริเวณน้ำตกลานเสด็จ จะได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่า 3 ชั้นบนดอยอินทนนท์ ประกอบด้วย ไม้ชั้นบน (ไม้ยืนต้นอายุ 10 ปีขึ้นไป) ไม้ชั้นกลาง (ไม้ยืนต้นขนาดกลางหรือเล็ก)  และไม้ชั้นล่าง (ไม้ขนาดเล็กที่มีเรือนยึดต่ำ) รวมทั้งไลเคน สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันของรากับสาหร่าย มีประโยชน์มากมาย



          ส่วนบริเวณทุ่งหญ้าบนพื้นที่สูง  ซึ่งเป็นจุดหน้าผาที่เลียงผาออกหากิน ปัจจุบันเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกแบบ 360 องศา



          นักท่องเที่ยวที่จะมาเดินชมธรรมชาติที่กิ่วแม่ปาน จะมีไกด์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ผ่านการฝึกอบรมเป็นไกด์นำเที่ยว มาให้บริการพาเที่ยวชมกิ่วแม่ปาน  เป็นการเปลี่ยนนักล่าให้เป็นนักเล่า เล่าเรื่องราวการอนุรักษ์พืชพรรณป่าไม้   ปัจจุบันมีไกด์ท้องถิ่นประมาณ 280 คน  ต้องฝึกอบรมด้านการปฐมพยาบาล การทำ CPR และต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชพรรณไม้ป่าภายในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน นอกจากนี้ กลุ่มไกด์ท้องถิ่น ยังแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเข้ากองกลาง เพื่อไว้สำหรับสมทบทุนในการทำแนวกันไฟ หรือเมื่อเกิดไฟป่า ก็จะเป็นกำลังเสริมให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ รวมทั้งการขึ้นทะเบียนเป็นไกด์ ก็ต้องสมัครกันปีต่อปี และต้องผ่านการทดสอบการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือนักท่องเที่ยวแบบปีต่อปี เพื่อให้ไกด์มีความพร้อมอยู่เสมอ



          ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จับมือกับคนในพื้นที่ ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผืนป่าดอยอินทนนท์ ทั้งการปลูกต้นไม้หายากทดแทนในพื้นที่ป่า เช่น ไม้สัก ไม้เต็งรัง ตะเคียน ประดู่ กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ กุหลาบพันปี เฟิร์นและมอสพันธุ์หายาก รวมทั้งอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ยังหลงเหลือ เช่น เลียงผา กวาง หมูป่า และปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่พบได้แห่งเดียวที่ดอยอินทนนท์ และมีสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว





          ส่วนเรื่องการป้องกันไฟป่า ทั้งเจ้าหน้าที่และคนในชุมชนก็ช่วยกันอย่างเข้มแข็งด้วยการทำแนวกันไฟ และสอดส่องดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิด



 



#กปร



#กิ่วแม่ปาน



#อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์



 

ข่าวทั้งหมด

X