รมว.คมนาคม-การทางฯ มั่นใจ'สะพานขึงคู่ขนานสะพานพระราม 9'แก้ปัญหาจราจร เปิดใช้ มี.ค.ปีหน้า

22 กุมภาพันธ์ 2566, 16:15น.


          การแก้ปัญหาการจราจรและลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 ในวันนี้มีความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานพระราม9 โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเทคอนกรีตสะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสุดท้าย ของโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร  ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย วงเงินลงทุนโครงการประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สะพานทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อกันได้



         สำหรับสะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในงานก่อสร้างสัญญาที่ 4  ขนาด 8 ช่องจราจร ถือเป็นสะพานที่กว้างที่สุดในประเทศไทย มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 เมตร (สูงเท่ากับสะพานตัวเดิม) ระยะทางรวม 2 กม. ซึ่งการดำเนินงานรวดเร็วกว่าแผนที่วางไว้





          การเทคอนกรีตช่วงสุดท้าย เพื่อเชื่อมสะพานทั้งฝั่งพระราม 3 และฝั่งราษฎร์บูรณะ ให้บรรจบกันตรงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งคาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จในกลางปีนี้ (2566) และเปิดบริการเดือน มี.ค.2567 เนื่องจากต้องรอผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 ก่อสร้างทางขึ้น-ลงบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ซึ่งทำให้เมื่อเปิดใช้สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9แล้วรถยนต์จะสามารถขึ้น-ลงถนนสุขสวัสดิ์ได้เลย นับเป็นการแบ่งเบาปริมาณการจราจรของสะพานพระราม 9 ระหว่างที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จทั้งโครงการ นับเป็นแนวทางเพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดสะสม ลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 เพื่อเดินทางไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสะดวกมากขึ้น



          ส่วนความปลอดภัยของตัวสะพาน นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ความมั่นใจว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม ซึ่งสามารถรับแรงลมได้ถึง 270 กม.ต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานจึงมีความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนี้ยังออกแบบสะพานให้มีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 ที่เริ่มยกระดับจากพื้นดินขึ้นไป  ส่วนสะพานใหม่จะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้วิ่งขึ้นและลงสะพานได้สะดวกมากขึ้น ไม่ชะลอตัวสะสมช่วงขึ้นสะพาน





          หลังจากนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะได้ขอพระราชทานชื่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เพื่อเทิดพระเกียรติพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  10



         สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนบุรี) ก่อสร้างเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ต่อกับทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนศรีรัช (ด่วน 2) ระยะทางรวมประมาณ 2 กม.





ภาพจำลองหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น



          ขณะที่โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ยังเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ที่เป็นทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างจะแล้วเสร็จตลอดสายใกล้เคียงกันประมาณปี 68 ยิ่งเพิ่มความสะดวกการเดินทางสู่ภาคใต้ด้วย



 



#การทางพิเศษแห่งประเทศไทย



#สะพานขึงคู่ขนาน



#สะพานพระราม9

ข่าวทั้งหมด

X