สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ.66 หลังจากที่เดือนม.ค.66 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวขยายตัว 5.02% ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ และ นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ.66 ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ต่ำสุดในรอบ13 เดือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวเข้าใกล้กรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ.66 อยู่ที่ระดับ 108.05 หรือเพิ่มขึ้น 3.79% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เริ่มใกล้เข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้
สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงมา เนื่องจาก ราคาพลังงานและอาหารสดที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 65 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อขยายตัวไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนม.ค.66) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 29 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
นายวิชานัน กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ13เดือน สัญญาณที่ดี และเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน จากเดือนม.ค.66 ลดลง โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.41% โดยอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มเป็นขาลง พร้อมคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1/66 จะเพิ่มขึ้นไม่เกินระดับ 4%
กระทรวงพาณิชย์ จะมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อของปี 66 ใหม่อีกครั้งในการแถลงเดือนหน้า เนื่องจากสมมติฐานสำคัญมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ปัจจุบันให้กรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 2.0-3.0%
แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมี.ค.66 คาดว่า จะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับฐานราคาในเดือนมี.ค.65 ค่อนข้างสูง การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมี.ค.66 นี้ การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และจะส่งผลมายังราคาสินค้าและบริการของไทยตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ปัจจัยในประเทศ ตลาดติดตามการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ.66 จากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ติดตามประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) แถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรส
#เงินเฟ้อไทย
#ต่ำสุดในรอบ13เดือน
แฟ้มภาพ
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ Facebook สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า