วันนี้เป็นวันคล้ายวันสถาปนาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ครบ 63 ปี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำผู้บริหาร พนักงานและอดีตพนักงาน ททท. ร่วมพิธีบวงสรวงพระนางจามเทวี,สักการะ "พระพุทธชัยวัฒน์ ประทานพร ททท." ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พนักงานและหน่วยงาน รวมทั้ง สักการะรูปเหมือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ อ.ส.ท. เมื่อปี พ.ศ.2501 และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว เมื่อ พ.ศ. 2502 ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และจัดทำอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นตำนานนิตยสารการท่องเที่ยวที่มีอายุยืนยาวที่สุดถึงปัจจุบัน รวมทั้งตั้งสำนักงานแห่งแรกของ อ.ส.ท.ที่ถนนเสือป่า เมื่อปี พ.ศ.2503 ด้วย ต่อมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น จึงมีการตราพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และจัดตั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เมื่อปี พ.ศ.2522
จนถึงปัจจุบัน ททท.ครบรอบ 63 ปีแล้ว นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ททท.พร้อมจะทำหน้าที่เป็นกลไกเครื่องมือของรัฐ ในการสร้างรายได้ภาคการท่องเที่ยวและนำเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาแข็งแกร่งเหมือนเดิม ซึ่งปีที่แล้ว ททท.ประสบความสำเร็จในการนำนักท่องเที่ยวกลับมาประมาณ 11 ล้านคน ส่วนปีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งเป้าให้ ททท.ต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของปี 2562 หรือประมาณ 2.38 ล้านล้านบาท
ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขอบคุณประชาชนที่ให้ความสนใจโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 จนยอดจองสิทธิเต็มภายใน 3 วัน ขณะนี้ ททท.กำลังประเมินว่าใช้งบประมาณในโครงการนี้ไปจำนวนเท่าใด หากยังมีงบประมาณเหลือสามารถนำมาคำนวนเป็นจำนวนสิทธิห้องพักและคูปองอิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาเพิ่มสิทธิในโครงการ เพื่อให้คนไทยได้เที่ยวกันต่อ
การคำนวนตัวเลขงบประมาณของโครงการนี้ จะใช้วิธีคำนวณจากราคาเฉลี่ยห้องพักสูงสุดอยู่ที่ 3,000 บาทต่อห้องในจำนวน 5 ห้องหรือ1 สิทธิต่อคน ในสัดส่วนรัฐบาลสมทบให้ 40% ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณาอีกครั้งว่า ประชาชนจองห้องพักในราคาที่เท่าใดบ้าง สูงสุดที่ 3,000 บาทหรือไม่ ซึ่งหากราคาต่ำกว่านั้น เงินที่ต้องสมทบใน 40% นั้นก็จะเหลือ โดยหากงบประมาณเหลือ ก็จะนำมาคำนวณเป็นจำนวนสิทธิห้องพักใหม่ได้ รวมถึงจำนวนคูปองอิเล็กทรอนิกส์อีก 600 บาทต่อวันด้วย ซึ่งยังต้องรอการเข้าพักของประชาชนที่จองใช้สิทธิไปแล้วจนครบก่อน จึงจะสามารถประเมินงบประมาณที่เหลือได้ เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพราะประชาชนเพิ่งเริ่มต้นเข้าพัก
ขณะที่เทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ ททท.คาดว่าน่าจะกลับมาคึกคักเหมือนช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูยอดการจองโรงแรมในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ที่ครอบคลุมในช่วงสงกรานต์ด้วย ก็เชื่อว่าการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปีนี้จะคึกคักแน่นอน
#การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
#ครบรอบ63ปี