เตือนเพจปลอมระบาดหนักช่วงฤดูท่องเที่ยว หลอกโอนค่าที่พักโรงแรม

02 พฤษภาคม 2566, 10:02น.


          พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ เตือนประชาชนให้ระมัดระวังมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ปลอมเพจเฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นเจ้าของที่พัก โรงแรม หรืออ้างเป็นแอดมินเพจ หลอกลวงประชาชนให้โอนเงินค่ามัดจำห้องพัก



          โดยที่ผ่านมา พบว่า มีผู้เสียหายหลายราย แจ้งความผ่านระบบออนไลน์ว่า ถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินค่ามัดจำที่พัก ก่อนเดินทางเข้าพักจริงในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในหลายจังหวัด  ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้แผนหลอกลวงอยู่ 2 วิธี คือ  สร้างเพจเฟซบุ๊กที่พักปลอมขึ้นมา หรือ ใช้เพจเฟซบุ๊กเดิมที่มีผู้ติดตามอยู่แล้ว  ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อเพจให้เหมือนกับเพจจริง  คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้หลอกลวงผู้เสียหาย และใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ





          อีกวิธี คือ ใช้บัญชีเฟซบุ๊กอวตาร  แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มแนะนำโรงแรม หรือที่พักต่างๆ โพสต์ข้อความในลักษณะว่ามีที่พักหลุดจองราคาดี  กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้น หรือบัญชีอวตารนั้นได้ หรือกรณีที่แย่ที่สุด คือ เมื่อผู้เสียหายเดินทางไปถึงที่พักจริงแล้ว กลับได้รับแจ้งว่า ไม่ได้มีการจองที่พักมา ทำให้นอกจากจะสูญเสียทรัพย์สิน เสียเวลาแล้ว ยังจะไม่มีที่เข้าพักอีกด้วย จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้เสียหายกว่า 238 ราย ความเสียหายรวมหลายล้านบาท หรือคิดเป็นเฉลี่ยรายละประมาณ 4,600 บาท



          เเม้ว่าการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว จะมีความเสียหายที่ไม่มากเท่ากับความเสียหายของการหลอกลวงในรูปแบบอื่นๆ แต่จะเห็นว่ามีจำนวนผู้เสียหายสูงกว่าในรูปแบบอื่น ยังไม่รวมถึงผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงแต่ไม่ประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย เพราะฉะนั้นการสำรองที่พัก หรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีก่อน ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจเหมือนเพจจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป พบเจอในกลุ่มท่องเที่ยวต่างๆ หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์





           พร้อมแนะนำให้สำรองที่พักผ่านช่องทางออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking.com, Agoda,Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง,หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใด ให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ , เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม,โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงินว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ เลขบัญชีถูกต้องหรือไม่,ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง,ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด,หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีที่รับโอนควรเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีชื่อบริษัท และต้องตรวจสอบหมายเลขบัญชีทุกครั้งว่ามีประวัติการหลอกลวงหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, blacklistseller.com หรือ chaladohn.com เป็นต้น



 



#เพจปลอมหลอกจองที่พัก



#เตือนภัยมิจฉาชีพ



#ตำรวจไซเบอร์

ข่าวทั้งหมด

X