ไทยเปิดยอดส่งออกรถยนต์เดือนพ.ค. ยังขยายตัวได้ร้อยละ 12.25

22 มิถุนายน 2566, 12:58น.


          ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ค.66 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ค.66 อยู่ที่ 86,358 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.25 จากเดือน พ.ค.65 เนื่องจากยอดขายของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดี เช่น ญี่ปุ่นโตร้อยละ25  อินโดนีเซียโตร้อยละ 65 มาเลเซียโตร้อยละ 21 อังกฤษโตร้อยละ 23 ฝรั่งเศสโต ร้อยละ24 สหรัฐฯโตร้อยละ 22 ยอดส่งออกเดือนพฤษภาคมขยายตัวได้ดีตามยอดขายของคู่ค้าต่างประเทศที่เติบโตสองหลัก ยกเว้นเวียดนามที่หดตัว



          ที่น่าสนใจพบว่า  ยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงในเดือน พ.ค.66 ยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่จำนวน 7,132 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 355.14 จากเดือน พ.ค.65 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 33,365 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 485.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อ



          ยานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV จดทะเบียนใหม่จำนวน 8,013 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.44 จากเดือน พ.ค.65 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มียานยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 38,647 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.65 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน



          ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่จำนวน 1,025 คัน ลดลงร้อยละ 2.94จากเดือน พ.ค.65 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 5,197 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ6.89 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯ กล่าวว่า นักลงทุนหวังว่ารัฐบาลใหม่จะขยายมาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าที่จะหมดลงในสิ้นปีนี้ออกไปอีก ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ



          สถิติยอดจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์แบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง เดือนพฤษภาคม 2566



ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 5,557 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2565 ถึงร้อยละ 991.75 และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 9.27 ของยอดจดทะเบียนทั้งหมด



รถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊กมีจำนวน 7,952 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 49.25  และมีสัดส่วนร้อยละ 13.27 ของยอดจดทะเบียนทั้งหมด



รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมมีจำนวน 1,025 คัน ลดลงร้อยละ 2.47 จากเดือนเดียวกันของปี 2565 และมีสัดส่วนร้อยละ 1.71 ของยอดจดทะเบียนรวม



          ด้านภาพรวมการผลิตในเดือน พ.ค.66 มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ 150,532 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.48 จากเดือน พ.ค.65 โดยผลิตส่งออก 89,709 คันและผลิตขายในประเทศ 60,823 คัน



          สำหรับการผลิตส่งออกและผลิตขายในประเทศทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะเพิ่มขึ้นจากฐานต่ำของปีก่อน เนื่องจากขาดแคลนชิปจากสงครามยูเครนและการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน และเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.96 จากเดือน เม.ย.66 ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 775,955 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ6.72 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน



          ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 65,088 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.55 จากเดือน พ.ค.65 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.34 จากเดือน เม.ย.66 เพราะรถยนต์นั่งที่เติบโตถึงร้อยละ 29.4 จากฐานต่ำในเดือน พ.ค.65 จากการขาดชิ้นส่วนชิปเพราะสงครามยูเครนและการล็อกดาวน์ของประเทศจีนจากโควิด-19 แต่รถกระบะยังคงลดลงร้อยละ 23.3 จากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มียอดขายรถยนต์รวม 341,691 คัน ลดลงร้อยละ 4.91 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน



          สาเหตุที่ ยอดขายรถระบะและรถบรรทุกในประเทศลดลงจากการเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อหลังตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และมีการนำเข้ารถราคาถูกเข้ามาตีตลาด และหวังว่าช่วงครึ่งปีหลังที่มีรัฐบาลใหม่แล้วเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโต



          โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯ กล่าวว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ยังคงเดิม ทั้งยอดการผลิต 1.95 ล้านคัน ยอดส่งออก 1.05 ล้านคัน เนื่องจากคู่ค้ายังมีการเติบโตที่ดี และยอดขายในประเทศ 9 แสนคัน โดยหวังว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดี



          ส่วนกรณีสถาบันการเงินของเมียนมาถูกคว่ำบาตรไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ เนื่องจากเมียนมาได้ห้ามนำเข้ารถยนต์ตั้งแต่กลางปี 65 แล้ว ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่ลดลงก็เป็นจังหวะดีที่ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว



 



 



 



#ส่งออกรถยนต์ 



แฟ้มภาพ



 

ข่าวทั้งหมด

X