ประมงชุมพร เตือน อย่าเก็บ-กินปลาตายเกยตื้น อาจเป็นอันตราย เร่งเก็บตัวอย่างน้ำทะเลตรวจสอบ

22 มิถุนายน 2566, 17:00น.


          นายวัชรินทร์ สุวพิศ ปลัด อบต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร รายงานว่า มีชาวบ้านพบปลาทะเลนับล้านตัวถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยเต็มชายหาดทุ่งวัวแล่นซึ่งมีความยาวประมาณ 3-4 กิโลเมตร หมู่ 8 ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร จึงประสานสำนักงานประมงจังหวัดชุมพร ก่อนเดินทางไปตรวจสอบ พบชาวบ้านในพื้นที่และต่างพื้นที่นับร้อยคน กำลังเก็บปลาใส่ภาชนะต่างๆ กันอย่างสนุกสนาน ส่วนบนหาดทุ่งวัวแล่นซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมพร ก็มีปลานานาชนิดถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยเต็มชายหาด สอบถามทราบว่า ปลาส่วนใหญ่เป็นปลาแป้นที่นำไปประกอบอาหารหรือทำปุ๋ยหมักได้ นอกจากนั้น ยังมีปลาชนิดอื่นๆ เช่น ปลาเก๋า ปลาสลิดหิน ปลาลิ้นหมา ปลาทราย ปลาเสือ ปลากระเบนขนาดเล็ก กุ้ง หอย ปูม้า ถูกคลื่นซัดขึ้นมาด้วย



          นายวัชรินทร์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี ส่วนสาเหตุคาดว่าเป็นเพราะก่อนหน้านี้เกิดความแห้งแล้งมาก จึงมีการทำฝนเทียมในพื้นที่ จ.ชุมพรได้ประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อมีฝนตกลงมาน้ำจืดจากแหล่งน้ำธรรมชาติบนฝั่งจึงพัดพาของเสียลงมาผสมกับน้ำเค็มในทะเล เกิดแพลงก์ตอนสีเขียวที่เรียกว่า “แพลงก์ตอนบลูม” ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำทะเลน้อยลง และไปอุดตามเหงือกของปลาที่หากินอยู่ตามชายฝั่ง จนปลาขาดอากาศหายใจและตาย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปีละ 1-2 ครั้งๆ ละ ประมาณ 2-3 วัน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนคุณภาพของน้ำทะเลต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบก่อน ซึ่งทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้มาเก็บตัวอย่างน้ำทะเลไปตรวจสอบแล้ว



          สำหรับ “ปลาที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยเต็มชายหาด ถ้าเป็นปลาตัวใหญ่ชาวบ้านจะเก็บไปทำอาหาร ถ้าเป็นปลาตัวเล็กก็นำไปทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ หลังจากชาวบ้านเก็บปลาแล้ว ในช่วงเย็นจะให้เจ้าหน้าที่ อบต.สะพลีมาระดมทำความสะอาดชายหาดทุ่งวัวแล่น คิดว่าปลาที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยหาดในปีนี้คงมีไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัว น้ำหนักเกือบ 10 ตัน ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดในภาคใต้ น้ำทะเลที่เสียก็จะถูกพัดขึ้นไปทางเหนือเรื่อยๆ หาดต่อไปที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้คงเป็นหาดสะพลีที่อยู่ตอนเหนือของหาดทุ่งวัวแล่น อีกหนึ่งสาเหตุก็น่าจะเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย



          นายประยุธ รัตนวรรณ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการ สำนักงานประมงจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายบุญญวัฒน์ ทองหอม ประมงอำเภอปะทิว และเจ้าหน้าที่ประมงได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบ ก่อนเก็บตัวอย่างน้ำทะเลในพื้นที่ที่พบปลาไปตรวจสอบ พร้อมเตือนชาวบ้านว่าอย่าเพิ่งนำปลาที่เก็บได้ไปประกอบอาหาร เพราะในปลาอาจมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ แต่หากนำไปทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ก็คงไม่มีปัญหา



 



#ปลาเกยตื้นตาย



#น้ำแดง



 

ข่าวทั้งหมด

X