พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว "การเปลี่ยนแปลงระบบทะเบียนประวัติอาชญากร เพื่อคุ้มครองผู้บริสุทธิ์" เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มักมีการกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเข้าทำงานในองค์กร โดยต้องแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบการสมัครงานด้วย หากมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร อาจทำให้ถูกตัดสิทธิ์ ไม่ได้รับเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตเริ่มต้นใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า หลังจาก ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีการแก้ไขลบรายชื่อประชาชนในทะเบียนประวัติอาชญากรได้จำนวนมาก จากที่ในอดีตไม่เคยแก้ไข จนทำให้ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถสมัครงานได้ เนื่องจากระเบียบเดิม กำหนดให้ผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องหา ต้องถูกนำชื่อไปบันทึกในทะเบียนประวัติอาชญากรทันทีโดยการพิมพ์ลายนิ้วมือ แม้ว่าสุดท้ายแล้วอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือเสียชีวิตไปแล้ว ก็ไม่ถูกลบรายชื่อออก อีกทั้งการจะพิจารณานำรายชื่อผู้กระทำผิดออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ผู้เสียหายต้องแจ้งและพิสูจน์ได้ว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่จับกุมผิดตัว หรือผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิตแล้วเท่านั้น
จึงมีการหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศาล อัยการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ในแต่ละปี มีคดีอาญากว่า 800,000 คดี รวมผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 13 ล้านคนจากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 66 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่า ในคนไทย 6 คนจะมีผู้ที่มีรายชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากร 1 คน ซึ่งภายหลังจากการประกาศบังคับใช้ระเบียบฉบับดังกล่าวแล้ว มีการแก้ไขปรับปรุงการจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 แบบ ได้แก่
1.ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา คือ ข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ห้ามเปิดเผย เว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานสำนักพระราชวัง งานสมัครเข้ารับราชการ
2.ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือรอการลงโทษ หรือมีเพียงโทษปรับ หรือกักขัง รวมถึงกระทำผิดโดยประมาท ห้ามเปิดเผยทั่วไปเว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด
3.ทะเบียนประวัติอาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ว่าได้กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นการกระทำผิดโดยประมาท
ด้านพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากระเบียบนี้มีผลบังคับใช้แล้ว 1 เดือน ตำรวจสามารถลบรายชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากรได้แล้วกว่า 10,000,000 คน เหลืออีกประมาณ 3.7 ล้านรายที่คดียังไม่สิ้นสุด ถือเป็นการคืนสิทธิ์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง โดยประชาชนสามารถตรวจสอบประวัติอาชญากรของตัวเองได้ที่โรงพักทั่วประเทศ และหลังจากนี้หากศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว ทางกองทะเบียนประวัติอาชญากรจะส่งเอกสารไปยังโรงพักทั่วประเทศ เพื่อให้สายตรวจนำเอกสารไปแจ้งให้ประชาชนถึงบ้าน ปัจจุบันได้แจ้งไปแล้วประมาณ 600,000 ราย นอกจากนี้ ตำรวจอยู่ระหว่างการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อประวัติอาชญากรของตัวเองได้ คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
ส่วนกรณีผู้ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการจราจรฯ โดยมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือศาลพิจารณาใช้ดุลยพินิจให้รอลงอาญา หากมีการชดใช้เยียวยาเป็นที่พอใจแล้ว ก็จะถูกลบประวัติอาชญากร ส่วนจะมีการแก้ไขระเบียบเพิ่มเติมหรือไม่ จะมีการพิจารณาในอนาคต แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังจะต้องเก็บข้อมูลบางส่วนของกลุ่มที่มีการกระทำความผิดซ้ำ เป็นคดีที่เกี่ยวกับเพศ อาชญากรต่อเนื่อง หรือเกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ แต่จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่เป็นการกระทบสิทธิ์ของประชาชนอย่างแน่นอน
สำหรับประชาชนที่ได้รับการลบประวัติอาชญากรตามระเบียบใหม่ จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถสมัครงานได้ตามที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือเดินทางไปต่างประเทศ และเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรมซ้ำซ้อนได้แน่นอน
#แก้ประวัติอาชญากร